จาก Utopia สู่ UtoPai กินดี…ที่เมืองปาย

“Utopia” คือดินแดนในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง ครั้งหนึ่งปายเคยถูกเรียกว่า Utopai โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวแบคแพคเกอร์แสวงห เป็นแหล่งของมนุษย์ New Age ผู้แสวงหาจิตวิญญาณอันสงบสุข และ Neo Hippies บุปผาชนหัวใจอิสระ นักเดินทางกลุ่มนี้เดินทางมารวมตัวกันอยู่มาก จนปายได้กลายเป็น Back Packer’s Mecca ของประเทศไทย หลังจากการปราบปรามยาเสพติดทำให้กลุ่มฮิปปี้หายไปบ้าง และหนังเรื่องปายอินเลิฟ ในปี 2009 ก็ทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทย หลั่งใหลมาเที่ยวปายอย่างมากมาย และปัจจุบันปายมีนักท่องเที่ยวชาวจีน และชาวเกาหลีเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้สร้างสีสันและความหลากหลายให้กับปาย หลายคนจากหลายเชื้อชาติผันตัวจากนักท่องเที่ยว กลายมาเป็นคนพื้นที่ และร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ ให้กับเมืองปาย เพราะพวกเขาเองก็ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่ดี และอาหารที่ดี หล่อเลี้ยงครอบครัวของเขาเช่นกัน ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในปายวันนี้ คือ ส่งผ่านอาหารคุณภาพในแบบที่ตัวเองกิน ไปให้กับผู้มาเยือนทุกคน สิ่งที่น่ายินดีอีกอย่างคือ มีการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น มีพ่อครัวแม่ครัวฝีมือฉมังเพิ่มมากขึ้น การมาเยือนปายครั้งหลังๆ จึงเป็นการกิน…กิน…กิน และกิน อย่างมีความสุข และรู้สึกปลอดภัย

Food Trails: Rose’s Roadhouse & New York Style Pizza

หากคุณเป็นแฟนคลับพิซซ่าและกำลังหิวโซอยู่พอดิบพอดี โปรดแวะมาลิ้มลองความอร่อยของพิซซ่าถาดยักษ์และเมนูอาหารสไตล์อเมริกันที่ Rose’s Roadhouse & New York Style Pizza ร้านอาหารขนาดหนึ่งคูหา บนถนนทางหลวงวงแหวนรอบสองเชียงใหม่ ตื่นตาตื่นใจไปกับพิซซ่าโฮมเมดสไตล์นิวยอร์คถาดอลังกาล ขนาด 25 นิ้ว อัดแน่นไปด้วยชีสหนักกว่าหนึ่งกิโลกรัม พร้อมกองทัพความอร่อยของ เนื้อ เห็ด ไส้กรอก เปปเปอโรนี ผักนานาชนิด และ อื่นๆอีกมากมาย ตามออร์เดอร์รสชาติที่มีอยู่ในใจ เมนูพิซซ่าที่แนะนำ ได้แก่ Rose’s Special พิซซ่าหน้าซาลามี แฮม ไส้กรอก หัวหอม เห็ด และ มะกอก ตามด้วยพิซซ่าต้มยำ รสชาติแซ่บสไตล์ไทย ปิดท้ายด้วยพิซซ่าสำหรับชาวมังสวิรัติ ซึ่งอุดมไปด้วยเห็ดและผักสดใหม่ทุกวัน

Main Dish: Daddy’s Antique Café & Restaurant ความทรงจำข้างหลังภาพ: กว่าจะมาเป็นร้านอาหารยูโรเปียนคอมฟอร์ทฟู้ด

สถาปัตยกรรมของปราสาททรงยุโรป ที่ตั้งตระหง่านบนถนนสายรอบสองเมืองเชียงใหม่ อาจเคยทำให้หลายคนเข้าใจผิดมาเสมอว่า เป็นสถานที่ตั้งของโบสถ์คริสเตียน หรือไม่ก็พิพิธภัณฑ์จัดแสดงข้าวของโบราณกาล แต่หากใครเคยลองย่างก้าวสำรวจแล้ว จะพบว่าปราสาทหลังนี้ คือ ร้านอาหารและมุมคาเฟ่ ที่แวดล้อมไปด้วยกลิ่นอายความงดงามของเมืองยุโรปในอดีตกาล จนต้องใช้เวลาสักพัก เพื่อพิจารณาตัวเองว่า คุณกำลังอยู่ในโลกแห่งความจริง หรือเทพนิยายปรัมปรากันแน่? แต่กว่าจะรู้ตัว… คุณอาจเผลอเลือกจับจองที่นั่งสักแห่งในร้าน ดูรายการอาหารบนแผ่นกระดาษ และส่ังเครื่องดื่มสักแก้วเข้าเสียแล้ว ระหว่างรอกาแฟแก้วโปรดมาเสิร์ฟ การได้ชื่นชมข้าวของประดับตกแต่งอันหรูหรา ควบคู่กับสิ่งประดิษฐ์ที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองในอดีตกาลอย่าง กล้องถ่ายรูปฟิลม์เก่าแก่ หรือ นาฬิกาติกต๊อกเรือนไม้ที่มีกลไลซับซ้อน ทำให้คุณได้พิจารณาว่า ‘ผู้ใดก็ตามที่ได้ครอบครองสถานที่แห่งนี้ คงเป็นผู้มั่งคั่งที่ยากนักจะมานั่งพบปะกับแขกของเขา’

Royal Cuisine: จดหมายจากพ่อถึงลูก และ “บันทึกความหิว” ยามไกลบ้าน

“…ไข่เจียวอีกอย่างหนึ่งที่เราควรจะทำกินได้เอง คือเจียวข้างล่างสุก อ่อนอย่างไข่เจียวฝรั่ง      แล้วจึงเอาไข่ผสมกับเครื่องปรุง มีหมูแฮมแลเนื้ออะไรเล็ก ๆ      เห็ดหยอดลงไปที่ตรงกลางแล้วพับทันที กดขอบให้ติดกันไม่ให้ไข่ที่กลางนั้นไหล สำเร็จจนไข่เจียว ข้างในเป็นยางมะตูม สำหรับกินเวลาเช้าอร่อย พ่อคิดถึงลูกจึงเล่าเข้ามาให้ฟังเช่นนี้…” จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายจากพ่อถึงลูกที่เรียบง่ายแต่งดงาม โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่ว่า “พ่อคิดถึงลูกจึงเล่าเข้ามาให้ฟังเช่นนี้” นับว่าเป็นสื่อสารความรู้สึกได้อย่างไม่ขัดเขินและกลับกลมกลืนไปกับเรื่องราวของอาหารอย่าง “ไข่เจียวอย่างฝรั่ง” หรือออมเล็ตได้เป็นอย่างดี แต่จดหมายฉบับนี้ไม่ใช่จดหมายจากพ่อถึงลูกธรรมดาทั่วไป เพราะเป็นบทบันทึกหนึ่งที่ปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาฉบับที่ 13 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก 126 ขณะประทับอยู่ ณ เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี เมื่อครั้งเสด็จประพาสประเทศในแถบทวีปยุโรป

Sugar Rush: เครปเค้กชาเขียว จาก คาเฟ่ เดอ โอเอซิส Green Tea Crepe Cake by Café de Oasis  

ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นที่ คาเฟ่ เดอ โอเอซิส ทำให้ใครหลายคนอยากเข้ามาผ่อนคลาย พบปะมิตรสหาย หรือสังสรรค์กับครอบครัว ที่ได้สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติรอบกาย ระหว่างที่ดื่มด่ำกับอาหารนานาชนิด เครื่องดื่มหลากหลายเมนู และขนมต่างๆ ได้คิดค้นสูตรขึ้นใหม่ๆ ตลอดเวลา รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบอย่างดีเพื่อให้ได้รสชาติที่นวลละมุน นอกจากกาแฟพันธุ์อาราบิก้าแท้ที่ส่งตรงจากเกษตรกรท้องถิ่นไทยแล้วนั้น เมนูของหวานอย่าง “เครปเค้ก” ยังเป็นอีกหนึ่งรายการที่เหมาะกับการปิดท้ายมื้ออาหารได้อย่างดี พระเอกหลักของรายการเครปเค้กจานนี้ คือ เครปเค้กชาเขียว ภายนอกอาจดูเหมือนเครปเค้กทั่วไปที่วางชั้นเป็นเลเยอร์สลับกับครีมเนื้อข้นสีขาว แต่ภายใต้แต่ละชั้นได้เพิ่มถั่วแดงแทรกเข้าไปแต่ละชั้นของแป้งเครปที่บางมาก เพื่อให้ผู้รับประทานได้สัมผัสถึงความผสมผสานที่ลงตัวของทั้งแผ่นแป้ง ครีมนมสด ผงชาเขียวและความหวานหอมของถั่วแดงอย่างชัดเจน จัดเสิร์ฟคู่กับซอสชาเขียวสูตรเข้นข้น ประดับตกแต่งจานด้วยผลไม้นานาชนิด

Kitchen Culture: เส้นทางของอาหารนิเคอิ-เพรูเวี่ยน โดย Chef Fernando Gabriel Soeda แห่ง อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท

เมื่อกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน พ.ศ. 2559 สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับสากล อย่างไรก็ตามเหล่ากองทัพนักกีฬาต้องเดินด้วยท้อง แหล่งพลังงานอันสำคัญมาจากอาหารอันโอชะในแต่ละมื้อนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวโลกหลายคนได้รู้จักบทบาทอาหารจากแดนทวีปอเมริกาตอนใต้กันมากขึ้นกว่าเดิม และหนึ่งในประวัติศาสตร์อาหารที่ดำเนินมากว่าหลายศตวรรษ คือ อาหารเปรู “ต้นตระกูลของผมมาจากประเทศญี่ปุ่น พวกเขาอพยพมาอยู่ประเทศเปรูในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ผมจึงได้เกิดและเติบโตในประเทศแห่งนี้ จึงมีสัญชาติเป็นเปรู แต่เลือดเนื้อเชื้อไขของผมเป็นชาวญี่ปุ่น” เรื่องราวอันน่าสนุกสนานได้ถูกกล่าวขานขึ้นจาก Chef Fernando Gabriel Soeda เชฟอาหารเปรูคนใหม่แห่ง อนันตรา เชียงใหม่ รีสอร์ท เมื่อมองดีๆแล้ว อาหารเปรูมีหน้าตาคล้ายกับอาหารญี่ปุ่นจนแยกไม่ออก นั่นเป็นเพราะการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมอาหารในปลายศตวรรษ์ที่ 19 ชาวญี่ปุ่นอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศเปรูจำนวนมาก ประกอบกับประเทศเปรูมีดินแดนทอดยาวติดกับทะเล 2,000 กิโลเมตร จึงทำให้คนเปรูบริโภคอาหารไม่ต่างจากคนญี่ปุ่น แม้ทั้งสองประเทศนี้จะมีภูมิศาสตร์ที่ติดกับน่านน้ำทะเลเหมือนกัน แต่อาหารญี่ปุ่นในยุคแรกนั้นก็ยังไม่ได้เป็นที่นิยมกันในเปรูมากนัก ชาวญี่ปุ่นจึงเรียนรู้การปรุงอาหารเปรู จนเกิดการแลกเปลี่ยนเทคนิคการทำอาหารญี่ปุ่นหลังครัวในเวลาต่อมา

Chef’s Secret: “Swiss Higher Diploma Program in Restaurant and F&B Operations Management” หลักสูตรการอบรมการบริหารจัดการภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่มระยะสั้น  

ภาควิชาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มองเห็นความสำคัญของตลาดงานบริการที่กำลังเติบโตในไทย จึงได้เปิดหลักสูตรระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจบริการ (Service Business Management) (หลักสูตร 3 ภาษา) ในปีการศึกษา 2562 ที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชี่ยวชาญจึงได้ร่วมมือกับ สถาบัน FBSTI (F&B Service Training International) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์  เปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม หรือ “Swiss Higher Diploma Program in Restaurant and F&B Operations Management” แก่ผู้ที่สนใจศึกษาด้านงานบริการที่ไม่สามารถเดินทางไปเรียนได้ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ โดยเน้นด้านการบริหารจัดการภัตตาคาร อาหารและเครื่องดื่ม พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรจบการศึกษากับสถาบันโดยตรง

Eat Well: สลัดแตงโมย่างกับเต้าหู้ฟัวกราส์ จาก The Redbox Restaurant

ความสุขใจในการรับประทานอาหารมื้อหนึ่งๆ อาจเติมเต็มด้วยความใส่ใจของใครสักคน ที่ต้องการให้อาหารจานนั้นๆ ไม่ได้มีเพียงแค่ความอร่อย แต่ต้องมอบคุณประโยชน์ครบถ้วนแก่ร่างกาย ปรุงจากวัตถุดิบชั้นดี พร้อมเสิร์ฟบนภาชนะสวยงามที่เข้าคู่กับอาหารอย่างลงตัว ความสมบูรณ์แบบใน รูป รส กลิ่น เสียง ที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ได้ถูกส่งต่อถึงผู้รับประทานอย่างไม่ตกหล่น และแน่นอนว่า พวกเขาทำไปด้วยความเชื่ออันแรงกล้าว่า อาหารที่ดีจะสร้างอารมณ์สุขสันต์ให้กับผู้รับประทานเสมอ The Redbox Restaurant ร้านอาหารไทย ที่ขับเคลื่อนโดย ชินดนัย บุญเฉลียว (เชฟแดน) และคู่ชีวิต พิมพ์มาดา กรรณกุลสุนทร (คุณพราว) ทั้งสองได้สร้างสรรค์อาหารกล่องในพื้นที่จำกัด ให้เต็มไปด้วยจินตนาการ จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อร้าน  ‘Redbox’ ซึ่งย่อมาจาก Ready – Eatable & Distinctiveness หรือ เรียกสั้นๆว่า Fine Dining in the Box