Chef’s Secret: ‘กาแฟไทยและความยั่งยืน’ โดย ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย Lanna Thai Coffee Development Center

 |  October 16, 2018

Read this article in English

‘กาแฟไทยและความยั่งยืน’
โดย ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย
Lanna Thai Coffee Development Center

กาแฟ เป็นพืชที่ปลูกมานานหลายศตวรรษและปรากฏอยู่ในแต่ละช่วงประวัติศาสตร์อันสำคัญ โดยมีจุดเริ่มต้นที่ประเทศเอธิโอเปียในอาฟริกา ขยายมายังโซนตะวันออกกลางอาหรับ แล้วค่อยๆ แพร่หลายออกไปยังแหล่งปลูกไปทั่วโลก ตั้งแต่ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี โดยได้เข้ามาในประเทศไทยในช่วงปีพุทธศักราช 2516


กาแฟเริ่มเข้ามาในประเทศไทยจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นที่สูง กาแฟเป็นหนึ่งในพืชที่ถูกนำเข้ามาปลูกทดแทนพืชเสพติด (ฝิ่น) ในพื้นที่สูงของประเทศไทย ชาวเชียงใหม่และคนพื้นที่สูงภาคเหนือตอนบน เริ่มรู้จักกาแฟครั้งแรก หลังจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรเห็นความยากจนของประชาชน ปัญหาด้านยาเสพติด การคมนาคมในยุคนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก ช่องทางการประกอบอาชีพที่มีให้เลือกน้อย ทำให้ผู้คนหันมาปลูกฝิ่นเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตน ด้วยเหตุดังกล่าว พระองค์จึงทรงจัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงเพื่อนำกาแฟพันธุ์อะราบิกามาส่งเสริมเป็นพืชทดแทนฝิ่น
จากกาแฟต้นแรกที่ถูกปลูกขึ้นบนแผ่นดิน ค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ ไปพร้อมกับการเติบโตของจำนวนผู้คนที่สนใจในอุตสาหกรรมกาแฟ จวบจนปัจจุบัน กาแฟกลายเป็นพืชมูลค่าสูง ที่มีผู้คนหลากหลายวงการต่างให้ความสนใจ เพราะกว่าจะมาเป็นเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการได้อย่างสมบูรณ์นั้น ต้องผ่านกระบวนการผลิต การแปรรูปที่หลากหลายขั้นตอน รวมถึง ความน่าสนใจของความซับซ้อนในกลิ่น รสชาติของกาแฟที่แตกต่างกันออกไป ทำให้คนยุคใหม่เริ่มหันกลับมองการประกอบอาชีพเกษตรกรกาแฟ ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนให้แก่ตนได้
เมื่อต้นปี พ.ศ.2561 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังวงการกาแฟไทยมานานกว่า 30 ปี ได้เปิดศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตกาแฟล้านนาคุณภาพในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 (Lanna Thai Coffee Hub) งบประมาณประจำปี พ.ศ.2560 (เพิ่มเติม) เพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพของกาแฟอะราบิกาในเขตภาคเหนือตอนบน ให้ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
“หลังจากที่ได้เริ่มโครงการ Lanna Thai Coffee Hub เรามองเห็นความสำคัญการให้บริการด้านวิชาการ การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการพัฒนาคุณภาพกาแฟ ให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ จึงได้เปิดศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทยขึ้น โดยมีบทบาทการมอบความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการทำกาแฟครบวงจร เพื่อให้ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกาแฟ สามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อยอดได้” ผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย ได้รวบรวมองค์ความรู้และเครื่องมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตกาแฟกาแฟครบวงจร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ นอกจากนี้ ยังมีการจัดอบรม ให้คำปรึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านกาแฟให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยมีนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของกาแฟ
“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเสถียรภาพในการปลูกกาแฟให้ยั่งยืนแก่เกษตรกรไทย คือ การเข้าใจวงจรการมีชีวิตของพืช เข้าใจคุณภาพและมาตรฐานของการผลิตพืชให้ได้คุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการ เพราะการพัฒนาการด้านการผลิตที่ตรงตามที่ตลาดต้องการก็จะสามารถทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การตอบสนองความต้องการของตลาดนั้น ต้องให้ความสำคัญกับการผลิตในทุกด้าน เช่น การดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ ตลอดจนถึง ความเข้าใจในฤดูกาลและการเจริญเติบโตของโรคและแมลงที่อาจส่งผลต่อคุณภาพกาแฟ เป็นต้น
ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ “หากดูแลต้นกล้ากาแฟได้ดีตั้งแต่ครั้งแรกที่ปลูก เกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ ก็จะได้ต้นกาแฟที่แข็งแรง ทนทานต่อโรคและแมลง และให้ผลผลิตตรงตามความต้องการ สร้างความมั่นคงต่ออาชีพการเกษตร” อาจารย์พัชนี สุวรรณวิศลกิจ นักวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ อาจารย์พัชนี ยังได้อธิบายถึงบทบาทหน้าที่ของภาคการศึกษา ที่บุคคลทั่วไปในวงการกาแฟสามารถเข้ามาทำการศึกษา ค้นคว้า ขอคำแนะนำ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน กับศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center) โดยมีรายละเอียดสังเขปในแต่ละส่วน ดังนี้:

บทบาทของศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย
1. เป็นศูนย์ฝึกอบรม ถ่ายทอดและเผยแพร่ ให้คำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับคุณภาพและมาตรฐานกาแฟ การปลูก การจัดการแปลงกาแฟ การแปรรูป การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา
2. เป็นศูนย์ทดสอบ และตรวจวิเคราะห์ ตัวอย่างดิน ปุ๋ย และพืช และถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับกาแฟในเขตภาคเหนือตอนบน และในพื้นที่อื่นๆ
3. ให้บริการคลินิกเกษตร ตอบคำถามให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลเกี่ยวกับกาแฟ
4. ผลิตกาแฟคั่ว และผลผลิตที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ จำหน่ายเพื่อให้ศูนย์สามารถพึ่งพาตัวเองได้

“ในอนาคตศูนย์กาแฟล้านนาไทย มีความตั้งใจเป็นแหล่งบริการเล็กๆ ที่ให้บริการด้านวิชาการ และความรู้ด้านกาแฟทั่วภาคเหนือ เพื่อให้บุคคลในวงการกาแฟสามารถเข้าถึงองค์ความรู้กาแฟได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เกษตรกรมาเข้าร่วมรับการฝึกอบรมกับศูนย์ฯ เพื่อทำให้ได้รับความรู้และความเข้าใจ สร้างโอกาสการเรียนรู้ และสั่งสะประสบการณ์ แต่ในบางครั้ง เกษตรกรที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้ามาร่วมกิจกรรมกับศูนย์ฯ ได้ ทางเราจะทำหน้าที่รับโจทย์ปัญหาและมีหน่วยบริการวิชาการออกเดินทางไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลต่อไป” อ.ดร.เยาวลักษณ์ กล่าว


ปัจจุบัน กาแฟได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนใน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องมาจากเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ และมีมูลค่า สามารถสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืนแก่ครอบครัวและเศรษฐกิจไทย
ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center) ได้เปิดช่องทางการติดต่อประสานงานให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลกาแฟเบื้องต้น ผ่านเว็ปไซต์ www.lannathaicoffeehub.com และแอพพลิเคชั่น Lanna Thai Coffee Hub ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกาแฟที่น่าสนใจ เช่น ตำแหน่งร้านกาแฟ โรงคั่วกาแฟ สวนกาแฟ และผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวข้องกับกาแฟ องค์ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกาแฟผลงานวิจัย ตลอดจนถึง สถานที่ท่องเที่ยวอันน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับกาแฟในภาคเหนือตอนบน เป็นต้น

ศูนย์พัฒนากาแฟล้านนาไทย (Lanna Thai Coffee Development Center)
คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่ตั้งอยู่: 155 หมู่ 2 ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
(ตั้งอยู่ใน ศูนย์วิจัย สาธิตและอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
โทร. 053 944 031
Facebook: LannaThaiCoffeeHub
www.lannathaicoffeehub.com