‘บ้านอาจารย์’ ร้านขนมที่อยู่คู่เชียงใหม่มานาน 35 ปีและส่งต่อสูตรขนมเปี๊ยะเลื่องชื่อมารุ่นสู่รุ่น

 |  May 15, 2023

Read this article in English

หลายๆ คนที่เคยขับรถผ่านถนนเส้นเชียงใหม่ลำพูนอยู่บ่อยๆ จะเห็นบ้านหลังใหญ่สีชมพูซึ่งดูละม้ายคล้ายกับบ้านตุ๊กตาน่ารัก ความจริงแล้วที่นี่ไม่ใช่บ้านตุ๊กตาแต่อย่างใด แต่เป็น ‘บ้านอาจารย์’ ที่ตั้งของร้านขนมไทยเก่าแก่ของเชียงใหม่

ที่นี่เป็นร้านขนมไทยที่มีขนมไทยหลากหลายแบบ แต่ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นขนมเปี๊ยะ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ขนมเปี๊ยะไข่เค็มในตำนานก็ยังอร่อยไม่รู้ลืม เมษ์ – นีรตรา วรรณสูตร ทายาทรุ่นสองของขนมบ้านอาจารย์เล่าว่า ขนมบ้านอาจารย์ก็ยังคงไว้ซึ่งรสชาติแบบดั้งเดิม ไปพร้อมๆ กับการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใต้ร่มของทายาทรุ่นสองที่มารับช่วงต่อจากรุ่นพ่อแม่

สูตรขนมของครอบครัว

ขนมบ้านอาจารย์เริ่มต้นในยุคของ คุณพ่อสุชาติ หรือ อาจารย์สุชาติ วรรณสูตร ผู้เป็นพ่อของเมษ์ ที่ได้สูตรขนมเปี๊ยะมาจากพี่สาว หรือ คุณป้ามาลี สวัสดิ์พูน คนที่หยิบจับอะไรก็ทำออกมาเป็นอาหารอร่อยได้แทบทุกอย่าง

“คุณลุงทำงานอัยการ ส่วนคุณป้าก็เป็นคุณนายอัยการที่ทำขนม ทำอาหารเลี้ยงแขกในจังหวัดนครพนมมาตลอด หลังจากที่คุณลุงเกิดอุบัติเหตุ คุณป้าก็ไม่มีอาชีพ แต่ยังต้องเลี้ยงดูลูกสาว 3 คน เดิมทีแกทำอาหารเก่ง พอคุณลุงเสียเลยเริ่มทำชุดเบรกส่งที่ต่างๆ และย้ายจากอีสานมาอยู่กรุงเทพฯ เพราะลูกๆ ต้องมาเรียนที่นี่”

‘ขนมบ้านอัยการ’ เป็นแบรนด์ขนมไทยๆ ที่คุณป้ามาลีปลุกปั้นมากับมือ หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อนี้มาบ้าง และบางคนอาจคิดว่าทั้งบ้านอาจารย์ และ บ้านอัยการต้อง มีใครสักคนที่พยายามถอดแบบจากอีกฝ่ายแต่ความจริงไม่ได้มีใครลอกใครทั้งนั้น เพราะทั้งสองเป็นแบรนด์พี่ แบรนด์น้องกัน มาลีได้ส่งต่อสูตรขนมแสนอร่อยให้กับน้องชาย จนกลายมาเป็น ‘ขนมบ้านอาจารย์’ เจ้าดังอยู่คู่เชียงใหม่มาจนวันนี้

“ทุกปิดเทอมคุณพ่อจะไปช่วยคุณป้าขายของที่กรุงเทพฯ  ก็พบว่าขนมเปี๊ยะที่คุณป้าทำอร่อย พ่อเลยบอกคุณป้าว่าให้ทำตัวนี้ขาย”

เมษ์เสริมว่าคุณพ่อเรียนจบด้านเซรามิกที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเรียนต่อปริญญาโทเป็นรุ่นแรกของที่นั่น หลังจากนั้นเขามีโอกาสไปเยือนประเทศต่างๆ และเห็นว่าที่ญี่ปุ่นหรือยุโรปมีขนมกล่องสวยๆ แต่ที่ไทยยังไม่มี เขาเลยได้ไอเดีย กลับบ้านมาตัดกระดาษ ขึ้นรูปแพ็คเกจจิ้งขนม ทำเป็นงานอดิเรกหลังเลิกงาน เป็นโปรเจ็คต์เล็กๆ ของตัวเอง
หลังจากที่ฝึกปรือ เรียนรู้สูตรขนมเปี๊ยะจากพี่สาวแล้ว เขาก็มาทำขนมที่เชียงใหม่ ตอนนั้นลูกมือคนสำคัญที่ช่วยทำขนมคือภรรยา หรือ ผศ. สงวนศรี วรรณสูตร คุณแม่ของเมษ์ ซึ่งในตอนนั้นทั้งสองเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เหมือนกัน แต่ละคนทำอาหารอร่อย มีทักษะงานครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำขนมได้ไม่ยากนัก แต่ในช่วงแรกๆ ยังมีลองผิด ลองถูกกันอยู่บ้าง กว่าจะขายได้ เรียกได้ว่าหมดถั่วไปหลายกิโล เพราะทั้งคู่ซื้อถั่วมาลองนึ่งชิมหลายๆ แบบจนกว่าจะได้รสชาติที่ลงตัว

แรกเริ่มสองสามี-ภรรยาทำขนมขายตามออร์เดอร์ ส่วนในช่วงเทศกาลปีใหม่ก็จะทำเป็นของขวัญไปแจกให้คนรู้จัก ผู้รับที่ได้ชิมต่างก็ถูกอก ถูกใจ เพราะไม่ค่อยเจอขนมเปี๊ยะรสชาติดีแบบนี้มากนัก หลังจากนั้น เมื่อได้รับความนิยมขึ้นและทนเสียงเรียกร้องไม่ไหวร้าน ‘ขนมบ้านอาจารย์’ ของทั้งคู่ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นร้านเล็กๆ ที่เปิดอยู่ใต้ถุนบ้านพักอาจารย์แห่งนั้น

เมษ์เล่าว่าไส้ขนมกับเนื้อแป้งเป็นสูตรดั้งเดิมจากคุณป้า แต่พอมาขายในเชียงใหม่ก็จำเป็นต้องปรับราคาลง รสชาติเลยจะแตกต่างกับบ้านอัยการเล็กน้อย ทางนั้นออกรสเค็มกว่า แต่สูตรของคุณพ่อสุชาติจะออกหวานนำ ปั้นลูกใหญ่กว่าและขายราคาถูกกว่า

จากใต้ถุนบ้านพักอาจารย์ ร้านขนมก็ขยับขยายไปเปิดร้านใหม่ ในละแวกบ้าน พอมีห้างใหญ่ในเมืองเปิดก็ได้ทาบทามเข้าไปขายขนมที่นั่น และแทบทุกครั้งที่มีห้างเปิดใหม่ บ้านอาจารย์ก็มักจะได้รับเชิญเสมอ นอกจากบ้านตุ๊กตาสีชมพูหลังสวยแห่งนี้ ปัจจุบันยังมีสาขาย่อยกระจายตัวอยู่ทั่วเชียงใหม่ รวมทั้งหมด 6 สาขา จากร้านใต้ถุนบ้านพักอาจารย์จนขยับขยายจนมีวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 35 ปี  ปัจจุบันสามพี่น้องรุ่นลูกเข้ามารับช่วงต่อโดยมีเมษ์และ ใหม่ – สุชาวดี วรรณสูตร ผู้เป็นน้องสาวดูแลเรื่องขนม ส่วนน้องชาย เมี้ยบ สุปิยะชาติ วรรณสูตร  ซึ่งเรียนจบด้านวิศวกรรมรับหน้าที่ดูแลโรงงาน

ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็มสูตรดั้งเดิมยังคงเป็นตัวเอกของบ้านอาจารย์มาเสมอตั้งแต่ยุคคุณพ่อจนมารุ่นลูก ไส้เค็มก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน มีทั้งถั่ว ฟัก งา และกุ้งแห้งที่ปรุงจนเข้ากันอย่างลงตัว และไส้น้องใหม่อีกไส้ที่น่าลิ้มลองคือ ไส้หมูหยอง ที่นำหมูหยองไปชุบกับน้ำสลัดโบราณแล้วเพิ่มความละมุนด้วยถั่วกวนสูตรบ้านอาจารย์ คล้ายกับแซนด์วิชโบราณที่มาในรูปแบบขนมเปี๊ยะ ยิ่งทานตอนร้อนๆ ยิ่งอร่อย

นอกจากนี้ยังมีไส้ถั่วแดง งาดำ ไส้ถั่วล้วน ช็อกโกแลต และชาเขียว ซึ่งสองไส้หลังน่าจะเป็นรสชาติที่เป็นประตูให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาลองชิมขนมเปี๊ยะไทยๆ ด้วยรสชาติแบบตะวันตกอันคุ้นเคยได้

นอกจากขนมเปี๊ยะแล้ว บ้านอาจารย์ยังมีขนมไทยหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกลีบลำดวน ที่อบควันเทียนจนหอมหวลแบบต้นตำรับขนมไทย รวมถึงสาลี่ทิพย์ ลูกชุบ ดอกจอก ครองแครงพริกไทยดำ ข้าวเม่า อาลัว ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีขนมไทยหากินยากอย่าง หน้านวลและโสมนัส ซึ่งเมษ์เผยว่าไม่ใช่แค่หากินยากเท่านั้น แต่ในหนึ่งปีบ้านอาจารย์ก็หาโอกาสทำขายยากเช่นกัน เพราะจะทำก็ต่อเมื่อมะพร้าวต้องดีได้ที่ ส่วนขนมหน้านวลก็ต้องรอฝนฟ้าอากาศเป็นใจ หากเป็นหน้าฝนจะทำให้เกิดโพรงในเนื้อแป้งได้ง่ายกว่าปกติ จึงทำขายไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นแรร์ไอเท็มที่หากินยาก แต่ถ้ามีโอกาสทำได้ บ้านอาจารย์ก็พร้อมจัดให้คนรักหน้านวลได้ลิ้มลองเสมอ

นอกจากขนมแบบไทยๆ แล้ว ที่นี่ยังมีเบเกอรี่อบแบบตะวันตกที่รสชาติละมุนไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นบราวนี่ หรือพายผีเสื้อ ที่แม้ไม่ใช่ตัวขึ้นชื่อของร้าน แต่ก็อร่อยจนอยากให้มาลอง และยังมีน้ำต้มสมุนไพรเย็นชื่นใจ 6 ชนิด ไว้ดื่มดับกระหายคู่กับขนมอร่อยๆ ด้วย

โซนน้องใหม่ที่เปิดล่าสุดคือโซนขนมต่างประเทศ จากเกาหลี จีน และญี่ปุ่น ที่เจ้าของร้านชิมแล้วว่าอร่อย และอยากให้คนที่มาเยือนบ้านอาจารย์ได้ชิมเช่นกัน จึงหยิบมาวางขายในร้าน เป็นสีสันและเพิ่มความหลากหลายให้กับลูกค้าที่แวะมา

ยิ่งไปกว่านั้นในเทศกาลพิเศษที่กำลังจะมาถึงนี้ ใครที่กำลังมองหากระเช้าขนมเป็นของขวัญ ที่นี่เค้าก็รับจัดกระเช้าตามงบของลูกค้าอีกด้วย

35 ปี ขนมบ้านอาจารย์

เคล็ดลับที่ทำให้ขนมบ้านอาจารย์ยังเป็นหมุดหมายของคนเชียงใหม่มาจนทุกวันนี้คือความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบชั้นเลิศทุกอย่าง ไข่เค็มก็ต้องเป็นไข่เค็มคุณภาพดีจากเจ้าที่ดองได้รสชาติดีที่สุด ถั่วที่ใช้ก็เฟ้นหาถั่วเกรด AAA คุณภาพดีมาทำเป็นไส้ถั่วเลิศรสในขนมเปี๊ยะ น้ำมันที่ใช้กับขนมทุกชนิดเป็นน้ำมันรำข้าวที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อท้ายที่สุดแล้ววัตถุดิบที่ดีเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นขนมที่รสชาติดีที่ครองใจคนมาอย่างยาวนาน

ที่สำคัญขนมทุกอย่างของที่นี่ ปราศจากสารกันเสียร้อยเปอร์เซ็นต์ หลายต่อหลายครั้งที่ขนมบ้านอาจารย์ถูกทาบทามให้ทำขนมในสเกลที่ใหญ่กว่านี้ เยอะกว่านี้ ให้ขนมอร่อยๆ จะเดินทางไปได้ไกลกว่านี้ แต่เหล่าคนรุ่นลูกผู้มารับช่วงต่อตัดสินใจแล้วว่าแนวทางของพวกเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะการผลิตเพื่อส่งออกทีละมากๆ นั้นจำเป็นต้องใส่สารกันเสียเพื่อยืดอายุขนม ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนที่ไม่คุ้มค่า ที่คนกินจะได้รับสารเคมีโดยไม่จำเป็น พวกเขาจึงเลือกที่จะเติบโตแบบยั่งยืนแบบนี้ไปเรื่อยๆ

“เราเริ่มจากเรากินเอง และแจกจ่ายคนอื่น เป็นคนรู้จัก ญาติ พี่น้อง ทุกวันนี้พ่อกับแม่ก็ยังมาชิมทุกครั้งที่มาโรงงาน เราไม่ใส่สารกันเสียเลย เพราะการใส่สารกันเสียเป็นการสะสมสารเคมีในระยะยาว เราเลือกแล้วว่าไม่ต้องการยืดอายุขนมให้ได้นานๆ เพื่อยอดขาย เพื่อผลิตได้เยอะๆ แต่เราทำเพื่อให้คนที่กินเขามั่นใจ ทำในแบบที่ลูกเราก็กินได้”

เมษ์ทิ้งทายไว้แบบนั้น และทั้งหมดนี้คือเคล็ดลับที่ทำให้ ‘ขนมบ้านอาจารย์’ ยังคงอร่อยทุกครั้งที่ได้ลิ้มรส เป็นของฝากที่ถูกใจผู้รับในทุกเทศกาลมากว่า 35 ปี

ขนมบ้านอาจารย์
Facebook : ขนมบ้านอาจารย์

Website : www.kanombanarjarn-chiangmai.com
โทร.053 216 700
สาขา

  • สาขาบ้านตุ๊กตา ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ เชียงใหม่-ลำปาง (07.00-18.00 น.)
  • สาขาสนามบินเชียงใหม่ ชั้น2 ฝั่งผู้โดยสารขาออกภายในประเทศ (08.00-19.00 น.)
  • สาขาโรบินสัน ชั้น G (10.00-21.00 น.)
  • สาขาราชภัฏเชียงใหม่ (08.00-19.00 น.)
  • สาขาเซ็นทรัลเฟสติวัล ชั้น G หน้า Tops (10.00-21.00 น.)
  • สาขาบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า ชั้น1 หน้า MK (9.00-20.00 น.)
  • สาขาบิ๊กซีดอนจั่น ชั้น1 หน้า SE-ED Book (9.00-20.00 น.)