ข้าวคลุกกะปิของ “เสด็จยาย”

 |  March 18, 2019

“…ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก ทำให้ข้าอยากกินข้าวคลุกกะปิ เจ้าเตรียมกะปิและเครื่องต่างๆ สำหรับปรุงไว้ให้ข้า พรุ่งนี้ข้าตื่นนอนข้าจะคลุกเอง…”ถ้อยความดังกล่าวนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ “บุรุษรัตนะ” บันทึกของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) มหาดเล็กผู้เคยได้ถวายการรับใช้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  5 เป็นบันทึกอันล้ำค่าที่มีข้อความตอนหนึ่งเล่าถึงพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 5 และเรื่องราวข้าวคลุกกะปิของ “เสด็จยาย”

                   ในบันทึกเล่มนี้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ขณะประทับบนเรือเมล์พระที่นั่งชื่อ “พะม่า “ เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2450 ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเบื่อหน่ายอาหารฝรั่งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องประทับบนเรือที่ถึงแม้จะมีอาหารบริบูรณ์แต่ก็ไม่ทรงถูกปาก จนกระทั่งวันหนึ่งได้รับสั่งเล่าให้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภฟังว่า ทรงมีพระสุบินถึง “เสด็จยาย” ดังข้อความที่กล่าวไปข้างต้น

             “เสด็จยาย”ที่ทรงพระสุบินถึงนี้ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นพระญาติวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงอำนาจที่สุดพระองค์หนึ่งของราชสำนักฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ 5 นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร  (พระนามเดิมคือ พระองค์เจ้าละม่อม) ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และทรงมีศักดิ์เป็นพระปิตุจฉา หรือ อาหญิงของสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                   ความผูกพันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อ “เสด็จยาย” นั้นแน่นแฟ้นยิ่งนัก นับเนื่องจากเหตุที่ทรงสูญเสียพระราชมารดาเมื่อทรงพระชนมายุเพียง 8 ปี ในเวลานั้นพระองค์เจ้าละม่อมได้ทรงรับอภิบาลเลี้ยงดูพระองค์ตลอดมาจนกระทั่งเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงยกย่องพระองค์เจ้าละม่อมเสมอพระราชชนนี ทรงออกพระนามว่า “เสด็จยาย”  และทรงโปรดเกล้าฯให้ทรงดูแลราชการในพระบรมมหาราชวังฝ่ายในตลอดพระชนม์ชีพจนกระทั่งสิ้นพระชนม์

                  ข้าวคลุกกะปิของเสด็จยายที่ทรงพระสุบินถึงในบันทึกของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะเสวยข้าวคลุกกะปิ ซึ่งเครื่องปรุงของแห้งต่างๆ เช่น กะปิ กุ้งแห้งนั้นพอจะมีเพราะนำไปจากสยาม แต่เรื่องสำคัญคือ “ข้าวสวย” ที่จะต้องหุงในเรือ เรื่องนี้สอดคล้องกับพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา ในหัวข้อ “บรรทึกความหิว” ความว่า

                “…สั่งให้ไปบอกพระราชวรินทร์เวลาเช้า ให้ไปบอกให้กุ๊กในเรือหุงเข้าสำหรับกินเวลาเช้า เพราะนึกว่าถ้าหุงเองคงจะทนช้าไม่ได้ กุ๊กเรือนี้นับว่าหุงเปน เคยไม่ดิบสองคราวมาแล้ว พอสั่งเสร็จล้มตัวลงนอน รู้ว่าผงลูกแอบเปอลตกถึงกระเภาะเท่านั้น ผีสางพวกกุ้งปลาเลยไม่หลอก หลับสนิทดี

            ครั้นเช้าตื่นขึ้นถามอ้ายฟ้อนว่าอย่างไรเรื่องเข้าสำเร็จฤๅไม่ อ้ายฟ้อนบอกว่าพระราชวรินทร์ไปกำกับให้กุ๊กหุงเอง เปียกบ้างไหม้บ้าง สองหม้อแล้วไม่สำเร็จ พ่อรู้สึกความผิดของตัวทันที ว่าไปใช้ให้พระราชวรินทร์ไปสั่ง แกไม่สั่งเปล่า ไปขี่หลังนั่งมาติกา จนอ้ายกุ๊กทำอะไรไม่รอดตามเคย จะว่ากะไรก็ไม่ได้ ร้องได้แต่ว่า ‘ฮือถ้าเช่นนั้นเราต้องหุงเอง’  อ้ายฟ้อนว่า ‘เจ้าคุณบุรุษหุงแล้ว’ พอล้างหน้าแล้วก็ได้กิน พระยาบุรุษเข็ดดิบคราวก่อน เลยหุงเปียกไปนิด…

          …เหลือกระปิน้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อย คลุกเข้ากินกับหมูแฮมแลกับฝรั่งเพลินอิ่มสบายดี ฅอเหมือนเปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง ไม่ได้มาตันอยู่น่าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย เวลาลงไปกินเข้ากลางวันพบพระราชวรินทร์บอกว่า กินเข้าอร่อยจริงๆ พระราชวรินทร์คำนับแล้วอมยิ้ม …”

           ความหมายในพระราชหัตถเลขานี้ก็คือ ทรงโปรดให้กุ๊กในเรือหุงข้าว แต่กุ๊กทำข้าวไหม้ไปหนึ่งหม้อ อีกหม้อหนึ่งหุงเปียกเกินไป แต่ด้วยความรอบคอบของ “เจ้าคุณบุรุษ” ที่ได้หุงข้าวไว้อีกหม้อหนึ่งไว้เผื่อ ทำให้สามารถนำขึ้นถวายได้ และได้ทรงนำข้าวสวยนั้นมาคลุกกับกะปิ น้ำปลา พริกป่นและหมูแฮม บีบมะนาวแล้วเสวยเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย ให้สมกับที่คิดถึงข้าวคลุกกะปิของเสด็จยาย

        พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเล่าเรื่องตอนนี้ไว้ว่า “…แล้วเสวยด้วยความเอร็ดอร่อยจนหมดสุ่มจานซุปที่ทรงคลุกไว้นั้น สังเกตดูพระพักตร์ยิ้มย่องผ่องใสที่ได้เสวยข้าวคลุกกะปิสมพระราชประสงค์…“ พระกระยาที่เหลือในหม้อนั้นทรงตักคลุกอีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พร้อมตรัสว่า “เจ้าลองกินซิอร่อยมาก”

    นอกจากเรื่องราวของข้าวคลุกกะปิแล้ว บทบาทสำคัญของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรในหน้าประวัติศาสตร์ ที่นอกเหนือจากการเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของฝ่ายในในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็คือทรงเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการ “ไถ่บ้านไถ่เมือง” เมื่อครั้งเกิดวิกฤติ รศ. 112 ฝรั่งเศสจ้องเอาสยามเป็นเมืองขึ้นและรุกคืบเอาเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย เมื่อเกิดการปะทะกัน ผลที่สุดไทยก็ถูกเรียกค่าปฏิกรณ์สงครามถึง 3 ล้านเหรียญ เงินจำนวนมหาศาลที่จะนำมา “ไถ่บ้านไถ่เมืองนี้” ได้มาจากเงิน “ถุงแดง”ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3   ที่ได้มาจากการค้าสำเภาและทรงเก็บไว้ในถุงแดงข้างพระแท่นบรรทม  ทรงยกเงินส่วนนี้ให้แก่แผ่นดินเพื่อใช้กู้บ้านกู้เมืองยามจำเป็น มิได้ทรงใช้สอยเลยตลอดพระชนม์ชีพ

เงินถุงแดงนี้มีจำนวนมากถึงสองล้านสี่แสนเหรียญ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าปฏิกรณ์สงคราม ขาดไปอีกหกแสนเหรียญ จึงได้มีการเรี่ยไรจากเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน โดยผู้ที่ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการถวายเงินสมทบจำนวนหกแสนเหรียญนั้น คือ “เสด็จยาย” หรือ สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรนั่นเอง

         แม้ในปัจจุบัน ใครจะบ่นว่าข้าวคลุกกะปินั้นมีวัตถุดิบเครื่องเครามากมาย เกินกว่าที่จะทำกินในบ้านได้ ต้องรับประทานในร้านอาหารเท่านั้นจึงจะคุ้มค่า แต่เรื่องราวแต่หนหลังกับ“ข้าวคลุกกะปิ”ของเสด็จยาย คือเรื่องเล่าชาววังอีกเรื่องหนึ่งที่คงจะทำให้ของ “ข้าวคลุกกะปิ”ในวันนี้ เข้มข้นขึ้นด้วยรสชาติของอดีตอันทรงคุณค่า และหากใครเกิดอยากกินข้าวคลุกกะปิขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน จะลองคลุกข้าวคลุกกะปิด้วยวิธีการและวัตถุดิบตามอย่างข้าวคลุกกะปิในเรือพะม่า ก็น่าลิ้มลองไม่น้อยทีเดียว