ไว้อาลัยคำเมือง:การตายอย่างช้าๆของภาษา

 |  August 1, 2017

Read this article in English

มีไม่กี่คำทักทายที่จะมีเสน่ห์เหมือนกับคำว่า “สวัสดีเจ้า” คำทักทายที่พูดเป็นจังหวะโดยใช้ภาษาคำเมืองซึ่งมาพร้อมกับการไหว้อย่างนอบน้อมจากหญิงสาวชาวล้านนา สำหรับผู้ที่มาเยี่ยมเยือนจังหวัดเชียงใหม่นี่อาจจะเป็นขอบเขตของคำศัพท์และความรู้ในภาษาคำเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำเมืองอยู่ คำเมืองถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงสำเนียงทางภาคเหนือของภาษาไทยกลาง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วนั้นคำเมืองเป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากด้วยภาษาเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองและได้ถูกนำมาใช้โดยชาวไทยภาคเหนือรวมถึงชาวลาวประมาณหกล้านคนในยุคปัจจุบันนี้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีจำนวนผู้ใช้มากมายแต่คำเมืองถูกจัดเป็นอีกภาษาหนึ่งที่อยู่ภายใต้การคุมคามของการสูญหายเนื่องจากการใช้ที่น้อยลงจากคนยุคใหม่

คำเมืองแปลความหมายตรงตัวได้ว่า ‘คำของเมือง’ ซึ่งเป็นภาษาที่ถูกใช้โดยชาวเมืองหรือชาวไทหยวนทางภาคเหนือของประเทศไทยซึ่งเรียกแทนตนเองว่าคนเมือง คำเมืองเป็นหนึ่งใน 95 ภาษาในตระกูลภาษาไท-กะไดซึ่งเป็นภาษาที่สามารถพบได้ทางตอนใต้ของประเทศจีน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคนกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ศาสตราจารย์สำนักวิชาการเมืองและการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้เขียนหนังสือ ‘วัฒนธรรมล่มสลาย:ป้อก่อเมือง แม่ก่อเมือง ลูกอู้เมืองบะจ้าง’ กล่าวกับทาง Citylife ว่า “ผมว่าภาษาคำเมืองอาจจะหมดภายใน 30 ถึง 50 ปีข้างหน้านี้ ไม่เหลือแล้วอย่างแน่นอนผมยืนยันได้ การล่มสลายของวัฒนธรรมมันชัดเจนมาก”

ต้นกำเนิดของภาษา

เมื่อมองย้อนกลับไปตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่อาณาจักรแรกทางภาคเหนือของประเทศไทยคือ อาณาจักรหริภุญชัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1293 และในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของจังหวัดลำพูน ณ.ตอนนั้นศาสนาพุทธได้ถูกนำมาเผยแพร่เข้าสู่ดินแดนนี้เป็นเวลากว่าร้อยสองร้อยปีและได้มีพ่อค้าจากทวีปอินเดียตอนใต้เข้ามาอีกด้วย ภาษาบาลีซึ่งเคยเป็นภาษาในคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาได้ถูกนำมาใช้เป็นภาษาเขียนภาษาแรกในบริเวณนี้ ชาวหริภุญชัยซึ่งเคยเป็นเชื้อชาติมอญและพูดภาษามอญจึงได้รับอิทธิพลจากภาษาบาลีและนำมาปรับใช้เป็นภาษาของตนเอง

ศาสตราจารย์ ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง

ล้านนาอย่างที่เรารู้จักกันคือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ซึ่งพญามังรายทรงสถาปนาเมืองขึ้นเมื่อประมาณ 700 ปีที่แล้วและด้วยความเข้มแข็งของราชวงศ์ของท่านได้ขยายพรมแดนล้านนากว้างขวางขึ้นไปอีก 270 กว่าปี อย่างไรก็ตามเชื้อชาติของประชากรส่วนใหญ่คือยวนและมอญ เมื่อครั้งที่ก่อตั้งเมืองชาวล้านนาเริ่มเรียกตนเองว่าคนเมืองและพูดคำเมือง และจากการอ้างอิงจากชิ้นส่วนของเครื่องปั้นดินเผาสมัยไม่กี่ทศวรรษหลังจากก่อตั้งเมืองเชียงใหม่พบภาษาเขียนซึ่งเขียนด้วยคำเมืองอยู่ จึงสามารถสันนิษฐานได้ว่าพญามังรายต้องการให้ราชอาณาจักรมีภาษาเขียนเป็นของตนเองจึงได้ดัดแปลงภาษาเขียนนั้นจากตัวอักษรมอญจนกลายเป็นคำเมืองที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของล้านนาสามารถเห็นได้จากการที่อาณาจักรขยายชายแดนทางใต้ไปจนถึงเหนือจังหวัดลำปาง ชายแดนทางเหนือถึงมณฑลยูนนานและชายแดนทางตะวันตกลึกลงไปถึงรัฐฉานในประเทศพม่า ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าติโลกราชในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 15 และสามารถเห็นได้ว่าเป็นยุคที่ล้านนาและอาณาจักรที่เกิดขึ้นใหม่อย่างอยุธยาได้ทำสงครามอย่างรุนแรงกันเป็นเวลากว่า 30 ปี จบลงที่อาณาจักรอยุธยาได้ย้ายเมืองหลวงชั่วคราวไปที่จังหวัดพิษณุโลกเพื่อปกป้องจากการโดนโจมตีจากเมืองล้านนาและหลังจากนั้นล้านนาก็สามารถยึดครองได้สำเร็จและเกิดการสูญเสียเมืองในภายหลัง จนถึงทุกวันนี้จังหวัดพิษณุโลกถูกรู้จักในนามของเมืองหน้าด่านของประเทศไทยแต่ในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหลายต่อหลายเล่มไม่เคยพูดถึงความน่าอับอายระหว่างสงครามระหว่างอยุธยากับล้านนาเลย พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นชาวพุทธที่นับถือศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้งและในรัชกาลของพระองค์ถือยุคทองของพระพุทธศาสนาในจังหวัดเชียงใหม่ วัดมากมายได้ถูกสร้างขึ้น พระภิกษุสงฆ์และผู้ศรัทธาเดินทางไกลมาเพื่อศึกษาและคัดลอกพระธรรมคัมภีร์จากต้นฉบับอักษรธรรมจากใบลาน ภาษาล้านนาจึงถูกกำหนดขึ้นอย่างมั่นคงในเวลานั้นและจารีตในการเขียนยังคงอยู่อย่างแข็งแกร่งจนกระทั่งยุคสมัยเมื่อไม่นานมานี้

เมื่อพม่าประสบความสำเร็จในการยึดครองล้านนาในศตวรรษต่อมา ผู้คนนับหมื่นจากอาณาจักรล้านนาถูกต้อนให้เข้าร่วมกับพม่าในการโจมตีอยุธยาและในที่สุดก็สำเร็จในการปล้นสะดมอยุธยาสองครั้งในช่วงไม่กี่ร้อยปีหลังจากนั้น ศ.ดร. ธเนศวร์กล่าวว่า

“สยามจึงแค้นมาก หนึ่งแค้นพม่า สองแค้นล้านนาที่เป็นกำลังของพม่ามาตีอยุธยา ด้วยเหตุนี้สยามจึงตัดสินใจไม่ยอมให้ล้านนาเป็นเอกราชอีก”

“กองทัพพระเจ้าตากสินจึงขึ้นมาจับมือกับกองทัพล้านนาที่อยู่ที่ลำปาง นำโดยนักรบสองคนชื่อพระเจ้ากาวิละ กับพระยาวชิรปราการ ขึ้นมาตีพม่าไล่ออกไปจากเชียงใหม่ แล้วก็สั่งให้พระเจ้ากาวิละให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่ตอนนั้นเชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2320-2322 สิงสาราสัตว์เต็มไปหมด ต้นไม้เต็มไปหมดและไม่มีผู้คนเหลืออยู่เลย เต็มไปด้วยสาบเสือและเสือเต็มไปหมด พระเจ้ากาวิละจึงรวบรวมพลไปตั้งหลักที่ป่าซางให้ไปสืบว่าใครไปแอบอยู่ที่ไหนบ้างไปตามมาให้หมดเลย โคตรของเราก็แอบอยู่ตามพื้นที่รกร้าง แถวช้างเผือก แม่ริม แม่แจ่ม สะเมิง อมก๋อย ดอยเต่า เวียงป่าเป้า พระเจ้ากาวิละก็รอจนพม่าอ่อนแรงลงเป็นลำดับกาวิละก็ประกาศสถาปนาเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2339 ซึ่งครบรอบ 500 ปีในการสถาปนาเมืองเชียงใหม่พอดี”

พวกเราเป็นคนช่างพูด

เป็นโชคดีอย่างยิ่งของชาวยวนที่ถูกขยับขยายไปตามพื้นที่ต่างๆเหมือนอย่างที่เคยเป็นสมัยก่อน ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความเหมือนกันของภาษา และท้ายที่สุดแล้วเมืองเล็กๆก็ได้กลายเป็นเมืองที่คึกคักและพลุกพล่านด้วยผู้คน อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีล้านนา กล่าวว่า “เชียงใหม่เหมือนเป็น cultural crossroad เป็นปั้มน้ำมัน ปตท. ของการเดินทางระหว่างประเทศจีน กับ เมาะละแหม่ง ที่นี้เหมือนเป็น refilling station ทุกคนจะบุกป่าฝ่าดงมาที่นี้ เพื่อจะมาขอพักก่อนสักพักถึงจะเดินทางต่อ”

”พญาเม็งรายได้มาสร้างเมืองเพื่อที่จะจับจุดนี้เป็นจุดขนส่งสินค้าไปโลกตะวันตกและ โลกตะวันออก แล้วก็หารายได้จากที่นี้ รายได้หลักๆไม่ใช่จากการซื้อขายสินค้าแต่เก็บค่าบริการ

การเก็บค่าบริการคือการเป็นแม่ค้าบริการต่างๆ ทำให้คนล้านนาถึงมีบุคลิกเช่นนี้ เจ๊าะแจ๊ะเก่ง เพราะฉะนั้นเวลาแขกมาผู้หญิงก็จะคอยทักทาย ‘สวัสดีเจ้า’ ทันทีเลย

ผู้หญิงถือว่าเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้หญิงอยู่กับที่ เขาไม่เป็นคนพเนจรไปที่อื่น เขาจะรู้จักทุกคนในหมู่บ้านทุกอย่างในหมู่บ้าน”

”ไปดูสิเจดีย์เกลื่อนไปหมดเลย ยิ่งช้างเผือกหลังห้องแถวนี่เหมือนกันมีเต็มไปหมดเลย เจดีย์หายไปหมดเพราะห้องแถว ไปเปิดประตูด้านหลัง คลินิกอะไรต่างๆ ก็เจอ สร้างมาเยอะขนาดนี้ก็เพราะมันเป็นโรงแรมเอาไว้พักพวกคาราวานทั้งนั้นยังไม่มีนักท่องเที่ยวสมัยนั้น ตอนที่ซักสามร้อยปีที่แล้วทั้งอยุธยา ตองอูมาตีเชียงใหม่ก็เอาคนไปจนกระทั่งไม่มีเหลือและกลายเป็นเมืองร้าง จนกระทั่งหลังๆก็ไปเอาคนใหม่มาก็ยังเป็นสาย service-minded เหมือนกัน มันมาสายข้าวเหนียวข้าวนึ่ง”

อาจารย์วิถีได้ระลึกถึงสมัยได้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเมื่อยี่สิบปีที่แล้วกับกลุ่มนักศึกษา ทุกคนต่างประหลาดใจที่ได้พบเห็นพนักงานต้อนรับส่วนใหญ่ในโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ตมาจากเชียงใหม่ ท่านได้กล่าวต่อว่า ”คนภูเก็ตไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมบริการ ดังนั้นพวกเขาจะนั่งอยู่ข้างหลังไม่ได้ออกมาต้อนรับ และมักจะเป็นหญิงสาวชาวเชียงใหม่ที่มาต้อนรับแขก และนี่คือวัฒนธรรมของเรา”

การเซาะและแบ่งประเทศชาติ

ในขณะที่เชียงใหม่ค่อยๆฟื้นฟูตนเองอย่างช้าๆห่างไกลจากสายตาของกรุงเทพ ประเทศทางตะวันตกเริ่มมองเห็นถึงทรัพย์สินของเรา ศ.ดร. ธเนศวร์ได้อธิบายว่า “กษัตริย์ล้านนาได้ทำข้อตกลงกับอังกฤษและฝรั่งเศสโดยตรง สยามก็น้ำลายหกสิทำแบบนี้ได้อย่างไร ล้านนานั่นของกูนี่ ท้ายที่สุดในปี พ.ศ. 2442 สยามจึงได้ยกเลิกฐานะเมืองขึ้นของล้านนาเลย ต่อไปนี้ล้านนาจะเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม”

ดังนั้นจึงเริ่มมีชาวสยามและต่อมาซึ่งก็คือชาวไทยพยายามที่จะนำล้านนาเข้าสู่ยุคแห่งการเป็นชาติโดยมักใช้วิธีที่โต้แย้งกัน

ศ. ดร. ธเนศวร์อธิบายเสริมว่า “ทีนี้ก็พูดได้เต็มที่เลยว่า ล้านนาไทย ล้านนาไทย ทั้งๆที่จริงมันไม่มีล้านนาลาวหรือล้านนาพม่า มันมีแต่ล้านนา ส่วนในเรื่องของภาษาก็ออกกฎหมายห้ามเรียนเขียนอ่านตัวอักษรล้านนา ห้ามพระเรียนเขียนอ่าน คนที่มีคัมภีร์ก็เอาไปซ่อนหมด จับได้ก็เผา โดนลงโทษ ครูบาศรีวิชัยก็เป็นตัวสำคัญจึงโดนหนักกว่าเพื่อน โดนเรียกไปควบคุมตัวหลายครั้ง ท่านติดคุกอยู่ 5 ครั้ง ส่วนหนึ่งก็โดนทำโทษเรื่องภาษาด้วย เขาห้ามเทศน์เป็นภาษาคำเมือง ส่วนตัวอักษรเป็นภาคกลางเป็นหมด แต่อย่างที่บอกคนเคยพูดมาเป็นร้อยๆปีจะเลิกทันทีได้อย่างไรก็จะอธิบายได้ว่าทำไมคนบ้านเรายังพูดกันได้เยอะอยู่ แต่ภาษามันตายไง ภาษาเมืองมันตายเพราะมันมีการแช่แข็งไม่เขียนไม่เรียนไม่อ่าน ถึงจะมีคำที่เกิดขึ้นมาหลังๆมานี้ก็พัฒนาไปได้ไม่มากเพราะมันไม่เขียน มันก็หายไป”

นอกจากนี้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ห้ามไม่ให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศไทยใช้ภาษาอื่นๆนอกเหนือจากภาษาไทยกลาง

ผ่านการรณรงค์ของสยามเพื่อนำพื้นที่ทั้งหมดที่อยู่ไกลออกไปเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนภายใต้รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 และในปี พ.ศ. 2483 เพียงไม่กี่ปีก่อนจะเริ่มต้นสงคราม จอมพล แปลก พิบูลสงครามได้ประกาศว่า “ชนชาติไทย จะต้องยกย่อง เคารพ และนับถือภาษาไทย และต้องรู้สึกเป็นเกียรติยศในการพูดหรือใช้ภาษาไทย”

อาจารย์นิคม พรหมาเพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่ กล่าวว่า “มาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง คนเมืองรุ่นก่อนๆต้องการให้คนรุ่นใหม่ทันสมัย ทำให้ภาษาคำเมืองเริ่มสูญหาย วัฒนธรรมการสื่อสารคำเมืองที่จะเปลี่ยนไปย่อมส่งผลกระทบต่อความเข้าใจของวัฒนธรรมล้านนาดั่งเดิม”

วางทุกสิ่งทุกอย่างในหลายๆมุมมอง

ดอกเตอร์หลุยส์ กาโบด ผู้ก่อตั้งห้องสมุดเพื่อการวิจัยของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ ศูนย์เชียงใหม่ อธิบายว่า “ทุกๆปีจะมี 25 ภาษาหายไปจากโลก ผมพบว่าในประเทศไทยมีภาษาตั้ง 65 ภาษา ถ้าเราเอาภาษาคำเมืองไปเทียบกับ64 ภาษาในประเทศไทย ภาษาคำเมืองก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม คนที่เป็นคนเมืองเขาจะนิยมโทษรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นองค์ที่ต่อสู้กับอังกฤษและฝรั่งเศส ต้องการสร้างชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ก็เลยเอาภาษาหรือตัวเขียนไทยกลางให้มาใช้ทั่วประเทศ แต่มองอีกแง่ในสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึงคือตัวอักษรภาษาไทยกลางก็มีการพัฒนามาจากอักษรขอม ภาษากลางก็ไม่ได้เอาเปรียบภาคอื่น เพราะภาษาไทยก็ทำให้คนภาคกลางเปลี่ยนตัวอักษรเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะได้เปลี่ยนน้อยกว่าภาคอื่น ถ้าเป็นนักวิชาการจะพิจารณาหรือจะมองเฉพาะจากมุมมองของตนเองไม่ได้ต้องเหมือนผู้พิพากษาที่อย่างน้อยเข้าใจว่าทำไมสมัยก่อนถึงมีเหตุผลแบบนั้น รัชกาลที่ 5 ต้องการสร้างชาตินิยมให้ประเทศของตนเองเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อไปสู้กับพวกฝรั่งที่ล่าอาณานิคมโดยให้คนไทยทุกคนมีความรู้เท่ากันกับฝรั่ง ซึ่งก็คือให้ใช้ภาษาเดียวกันเพื่อเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ให้ได้เท่าๆกัน ถ้าใช้แต่ภาษาท้องถิ่น อีกพันปีก็คงสอนไม่จบ เขาเลยให้ใช้ภาษาและตัวอักษรแบบเดียว”

ดอกเตอร์หลุยส์ กาโบด

“ถ้าเราจะวิจารณ์ใครก็ตาม เราก็ต้องพยายามย้ายความคิดของเราไปในสมัยของเขา ถ้าจะบอกว่ารัชกาลที่ 4 และ 5 แย่มากเพราะมาทำลายวัฒนธรรมก็อาจจะจริงใช่ไหม แต่ต้องบอกว่าในสมัยก่อนทุกประเทศในยุโรปก็ทำแบบนี้ นโยบายที่ว่าทำลายวัฒนธรรมน่าจะเป็นช่วงจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำลายวัฒนธรรม เขามีความรู้สึกที่ว่าจะนำประเทศให้ก้าวหน้าเพราะจะสร้างประเทศให้เท่าเทียมและก้าวหน้ากับฝรั่ง ไม่ใช่แค่ว่ารัฐบาลอย่างเดียวที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเรามักจะอ้างว่ารัฐบาลบ้าๆบอ กรุงเทพบ้าๆบอแต่จริงๆแล้วถ้าคนในพื้นที่ไม่ยอมจริงๆ คนในกรุงเทพก็ทำอะไรยากเหมือนกัน”
ดอกเตอร์หลุยส์ เสริมว่า “แต่ก่อนยังไม่มีคำว่า ‘ชาติ’ ในความหมายที่เรามีในปัจจุบันใช่ไหม เพราะว่าแต่ก่อนมีคนมีอำนาจมีจักรพรรดิหรืออะไร แต่เขาก็จะไม่มายุ่งว่าเธอมีสำเนียงหรือภาษาที่ไม่สวยหรืออะไรไม่เกี่ยวกัน สิ่งที่ผู้มีอำนาจกล่าวคือเขาต้องการให้ผู้คนที่อยู่ในเขตที่เขาควบคุม ต้องการให้เขาไม่ได้เข้ากับศัตรูอย่างเดียวแต่จะไม่ยุ่งเรื่องภาษาหรือศาสนาเลย สิ่งที่เขาต้องการอย่างเดียวคือไม่ให้เป็นศัตรูกับอำนาจกลาง นอกจากนั้นจะพูด จะยืน จะขี้ ยังไงก็เรื่องของเขา”

อาจารย์วิถีเห็นด้วยว่า “ภาษาเริ่มหายก็เป็นปัญหาในทุกที่เลยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ใช่แค่รัฐบาลกรุงเทพดึงพวกเราเข้าไปในวงโคจรแต่ฝ่ายพันธมิตรได้หล่อหลอมชาวยวนข้าวเหนียวเหมือนที่พวกเขาทำกับประเทศอื่นๆทั่วโลก พวกเขาถูกแบ่งแยกไปหลายๆที่ กลุ่มทางโน้นก็อยู่กับจีนไป กลุ่มพม่าก็กลายเป็นฉาน กลุ่มเวียดนามก็อยู่เวียดนาม กลุ่มลาวก็เป็นลาว กลุ่มล้านนาที่เหลืออยู่ก็กลายเป็นคนไทย”

การตายอย่างช้าๆและความพยายามในการเกิดใหม่

อาจารย์วิถีได้ระลึกถึงว่า “สังเกตดูแม้กระทั่งไปกาดหลวงเราพูดภาษาไรบ้าง ภาษาและสำเนียงมันมีเยอะมาก ถึงแม้ว่าตอนนี้เราสามารถได้ยินสำเนียงหลายๆสำเนียงแต่สำเนียงเหล่านั้นก็เริ่มจะลดน้อยลง สิ่งที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันคือยังมีผู้คนหลายคนพูดภาษาคำเมืองอยู่แต่สมัยนี้เป็นแค่สำเนียงแต่ไม่ใช่ภาษาจริงๆแล้ว เพราะว่าตอนนี้พวกเราใช้ภาษาเขียนเหมือนกรุงเทพและเริ่มใช้คำศัพท์เหมือนกรุงเทพเช่นกัน ดังนั้นที่ผู้คนสมัยนี้บอกว่าตนเองพูดคำเมืองจริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้พูดอย่างถ่องแท้เพราะพวกเขาไม่มีคำศัพท์จากภาษาเมืองเลย จริงๆแล้วพวกเขาแค่พูดคำไทยกลางด้วยสำเนียงเมืองเท่านั้น เหมือนหลายๆที่ทั่วโลก ภาษาของเราถูกเปลี่ยนแปลงจากหุบเขาไปภูเขาหรือแม้แต่ถนนสายเดียวกันก็ยังแตกต่างกัน ผู้คนที่ถนนช้างม่อยจะพูดคำว่า ‘เมือเฮือน’ ที่หมายถึงว่า ‘กลับบ้าน’ ในขณะที่ผู้คนที่ถนนท่าแพ จะพูดคำว่า ‘ปิ๊กบ้าน’ ความแตกต่างเล็กน้อยเหล่านี้กำลังสูญหายอย่างสมบูรณ์”

หลายโรงเรียนในปัจจุบันกำลังเริ่มต้นที่จะสอนภาษาคำเมืองอีกครั้ง ความภาคภูมิใจในมรดกของล้านนาได้รับการฟื้นคืนชีพในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายสถาบันสอนภาษคำเมืองมีผู้ที่สนใจส่วนใหญ่คือพระที่ต้องการเรียนคัมภีร์ หมอที่ต้องการศึกษาเกี่ยวกับยาแผนโบราณ นักวิชาการหรือนักวิจัยที่กำลังมองหาภูมิปัญญาและถ้อยคำจากในอดีต ศ.ดร. ธเนศวร์ถอนหายใจพร้อมกล่าวว่า “การรณรงค์ที่มาในตอนนี้มัน too little too late ทุกวันนี้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่มาจากต่างจังหวัดเช่น แพร่ น่าน หรือพะเยา ก็กลัวที่จะพูดภาษาเหนือสำเนียงเชียงใหม่กลัวเขาจะดูถูกเอา กลัวอายสำเนียงเขาก็เลยพูดไทยกลางไปเลยข้ามไปเลย พูดไทยง่ายกว่า คนที่ยังพูดภาษาคำเมืองตอนนี้ก็คือรุ่นเก่าๆ เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่เชื่อว่าคำเมืองมีคุณค่าอะไรต่อพวกเขา แล้วทำไมพวกเขาต้องสนใจ? ดาราก็ไม่พูดคำเมือง นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็ไม่พูดคำเมือง เพื่อนๆก็ไม่พูดคำเมือง คำเมืองจึงถูกมองว่าน่าอับอายและล้าสมัย”

ดอกเตอร์หลุยส์ กล่าวเพิ่มว่า “นักวิจัยต่างๆที่ต้องการที่จะฟื้นฟูความภาคภูมิใจของล้านนา ความภาคภูมิใจของคำเมือง ความภาคภูมิใจของวัฒนธรรม ผมค่อนข้างจะลังเลใจเพราะว่าผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน แต่อย่าลืมว่าเพื่อให้รื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่ามันต้องให้ทุกคนยังมีวัฒนธรรมนั้น แต่ว่าวัฒนธรรมเก่ามันหายที่ละเล็กละน้อยโดยไม่รู้ตัว อีกหนึ่งร้อยปีมันจะเป็นยังไงผมก็ไม่รู้ ลองมองถึงกระแสในปัจจุบัน พวกเราเดินถอยหลังออกมาจากวัฒนธรรม ผมไม่กล้าจะเดิมพันที่เยาวชนจะเลือกที่จะอนุรักษ์ตัวอักษรมากไปกว่าการใช้โทรศัพท์ไอโฟนของพวกเขา”

อาจารย์วิถีได้เสริมว่า “มันดีที่มีความตะหนักว่าเรากำลังจะเสียของไป ถ้าเรารู้จักมันรู้จักที่จะถนอม เราก็จะสามารถรักษามันได้ การรักษาเรื่องในอดีตของเราอย่างน้อยมันก็ทำให้เรารู้ว่าเรามาจากที่ไหน และนี้คือจุดเริ่มต้น”

ศ.ดร.ธเนศวร์ เน้นย้ำอีกว่า “มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนรุ่นใหม่ไม่เรียกตนเองว่าเป็นคนเมืองแล้ว เรียกตนเองเป็นคนไทยหมด ถึงจะเรียกว่าล้านนาเรเนซองส์แต่ผมว่าก็ธุรกิจทั้งนั้นแหละ ผมว่าโม้ทั้งนั้นแหละเอามาทำคำใหญ่คำหลวงแต่เหมือนไม่มีจริง วัฒนธรรมคือการประพฤติปฏิบัติกิจกรรมด้านต่างๆของมนุษย์อย่างเป็นกิจวัตรประจำวัน อะไรที่ทำเป็นกิจวัตรประจำวันอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอเราเรียกว่าวัฒนธรรมโดยไม่ต้องคิดหรือวางแผน มันต้องมีอยู่จริง…แต่มันไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว”