สิทธิมนุษยชน: ความสำคัญของการมีสัญชาติไทย และการโหยหาของผู้ไม่ได้สิทธิ์

 |  April 4, 2017

English Click Here

เมื่อเดือนก่อนพ่อของฉันทำกระเป๋าสตางค์หาย เราคุยกันว่าจะไปเทศบาลเพื่อทำบัตรประชาชนใหม่ แต่เรายุ่งจนไม่มีเวลา อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ต้องรีบร้อนมากนัก เพราะรู้ว่าใช้เวลาทำบัตรประชาชนเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

แต่สำหรับชนกลุ่มน้อยและคนไร้สัญชาตินับแสนคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย การไม่มีบัตรประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเขา เพราะหากไม่มีบัตรประชาชน คุณไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ กู้เงินก็ไม่ได้ ทำธุรกิจไม่ได้ แต่งงานไม่ได้ โอกาสในการรับทุนเรียนฟรี และสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลก็ไม่มี การเดินทาง การลงคะแนนต่างๆ หรือสิทธิอื่นๆ อีกมากมายที่ควรได้รับก็จะไม่มี และไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้ พวกเขาจะต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและความไม่ยุติธรรมจากคนที่แสวงหาผลประโยชน์จากช่องโหว่เหล่านี้ เช่นคนในภาครัฐหรืออื่นๆ

พวกเขาไม่มีตัวตน เพราะไม่มีเอกสารยืนยันตามกฎหมาย และอีกกว่าครึ่งล้านคนที่ไร้สัญชาติกำลังรอการอนุมัติในการรับสัญชาติสำหรับการเกิดในประเทศไทย อันที่จริงแล้วพวกเขาก็มีบรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ไม่ใช่ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยที่เป็นชาวต่างชาติ แต่เป็นชนเผ่าที่มีเชื้อสายไทย ที่กลับไม่ถูกนับว่าเป็นคนไทย จนกว่าพวกเขาจะได้ถือบัตรประจำตัวประชาชนสัญชาติไทยใบสีฟ้า ซึ่งพวกเขายังคงต้องเผชิญกับอคติของผู้คนในทุกๆ วัน

สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาซับซ้อนที่เหล่าชาวเขาและชนกลุ่มน้อยต้องเผชิญ และองค์การนอกภาครัฐ หรือกลุ่มองค์กรเอกชน (NGOs) ที่เรียกว่า มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล (คสบ.) ที่กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในท้ายที่สุด

“องค์กรพัฒนาเอกชนของเราเริ่มต้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2543 โดยมุ่งเน้นประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์” เขมชาติ ศักดิ์สกุลมงคล ผู้อำนวยการองค์การยุติธรรมนานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ (International Justice Mission: IJM) หนึ่งในสามสิบของบุคลากรในมูลนิธิมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลกล่าว

“เราใช้เวลาไม่นานนักกว่าจะตระหนักว่า เหยื่อค้ามนุษย์ทางเพศส่วนใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับสัญชาติ รัฐบาลไทยไม่ได้ออกบัตรประชาชนให้พวกเขา คนเหล่านี้ยากจนและไม่มีสถานภาพ ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในทุกด้าน ในปี พ.ศ. 2550 เรามุ่งเน้นและพยายามช่วยเหลือผู้คนในการลงทะเบียน และเรียกร้องสิทธิในสัญชาติ รวมถึงการออกบัตรประชาชนสัญชาติไทย ด้านองค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) กล่าวว่า นี่คือปัจจัยที่สำคัญในการช่วยเหลือสตรีชาวเขาและเด็กผู้หญิงที่ถูกค้ามนุษย์ เพราะพวกเขาไม่มีสถานะทางกฎหมาย”

มีคนไร้สัญชาติประมาณ 12 ล้านคนอยู่ทั่วโลก และจำนวน 1 ใน 5 อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวเขาอาศัยอยู่ประมาณ 1 ล้านคน โดยมีชาวเขาที่มีสิทธิขอสัญชาติประมาณ 400,000 – 600,000 คน ในขณะที่ส่วนที่เหลือไม่มีสิทธิขอสัญชาติ หรือไม่ก็มีสัญชาติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการยากที่จะนับคนที่ไม่มีตัวตนทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในค่ายหรือทำงานผิดกฎหมายทั่วประเทศ แต่ข่าวดีก็คือ ในเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้ประกาศว่าจะยุติการไร้สัญชาติในประเทศไทยอย่างถาวรภายในปี พ.ศ. 2567 และในขณะที่มีความก้าวหน้าอย่างมากในเรื่องนี้ ก็ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักและการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ใหญ่มาก

“ผมพูดในฐานะคนต่างด้าว ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีสัญชาติไทย คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิใดๆเลย” เขมชาติ ผู้ซึ่งได้รับสัญชาติไทยพร้อมกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวอาข่าขณะที่อายุได้ 10 ขวบ กล่าว

ตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คนที่ไม่มีสัญชาติไทยไม่สามารถเดินทางออกนอกอำเภอได้โดยไม่ได้ถือใบอนุญาต ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพวกเขา จนกระทั่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา เพื่อทำการขยายการอนุญาตการเดินทางออกจากอำเภอเป็นจังหวัด

“คนต่างด้าวในประเทศไทยมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ลงทะเบียนสำมะโนประชากรโดยกระทรวงมหาดไทย และได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการขอสัญชาติไทย หรืออย่างน้อยก็ได้พำนักอาศัยอย่างถาวร ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งอพยพมาจากประเทศอื่น

ข้อจำกัดสำหรับคนที่ไม่มีสัญชาติ คือ สุขภาพทรุดโทรมลง เพราะปราศจากอิสรภาพในการเดินทางนอกเหนือจากเขตอำเภอหรือจังหวัดของตนเอง โอกาสของพวกเขาก็จะลดน้อยลง หากไม่มีบัตรประชาชนแล้ว นายจ้างสามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำแก่พวกเขาได้ ดังนั้น โอกาสในการทำงานจะถูกจำกัด ประกอบอาชีพได้แค่การเป็นแรงงานทั่วไปและทำงานภายในบ้าน”เขมชาติกล่าว

ชีวิตของผมคงเปลี่ยนไปมาก หากผมมีสัญชาติตั้งแต่ผมเกิด” อาตู ชาวเขาอีกคนหนึ่งที่ได้รับสัญชาติจากการช่วยเหลือจากองค์การยุติธรรมนานาชาติเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากการต่อสู้เพื่อขอสัญชาติมา 14 ปีเต็ม “เพราะผมจะได้วางแผนอนาคตและความฝันในสิ่งที่ผมอยากทำ แต่ผมกลับต้องวิ่งไล่ตามเรื่องการขอสัญชาติ ทำให้เสียเงินทองและโอกาสดีๆ ไปมากมาย”

สำหรับเขมชาติ ความกังวลของเขา ก็คือ การขาดการเข้าถึงการศึกษา “ส่วนหนึ่งในการทำงานของเราคือการเจรจากับทางมหาวิทยาลัยที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมนักเรียนต่างชาติมากกว่านักเรียนในท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีสิทธิทำสัญชาติไทยได้ แต่ยังไม่ได้ทำ เราจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่านักเรียนเหล่านี้กำลังจะได้รับสัญชาติไทย และปฏิบัติต่อพวกเขาในฐานะคนไทยคนหนึ่ง พวกเขาไม่สามารถเข้ารับการศึกษาได้ เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนในฐานะนักเรียนไทยได้ อีกทั้งค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาต่างชาติก็สูงกว่าค่าเล่าเรียนไทยหลายเท่า”

เขมชาติเคยเป็นสมาชิกเผ่าอาข่าคนที่สองที่ได้รับปริญญา เขาต้องกู้เงินเรียนเป็นเวลา 15 ปี และจะต้องชำระเงินกู้คืนให้หมดภายในปีหน้า ซึ่งเป็นโอกาสที่สมาชิกชาวเขาคนอื่นๆ ไม่มี

“ปัญหานี้ก่อให้เกิดข้อจำกัดมากมาย เพราะชนกลุ่มน้อยและคนที่ไม่มีสัญชาติมักถูกล่อลวงได้ง่ายต่อสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกกฎหมาย ที่ไม่มีอำนาจปกป้องพวกเขาได้” เขมชาติ กล่าว

หนึ่งในนั้นคือข้อจำกัดในโอกาสด้านอาชีพการงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้หญิงที่ไม่มีสัญชาติส่วนใหญ่มักตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี ซึ่งเป็นวงจรอันโหดร้าย ผู้หญิงกลุ่มนี้ไม่มีโอกาสได้งานที่ปลอดภัยหรือถูกกฎหมาย ทำให้ต้องพึ่งพาบุคคลที่สามในการหางานให้ และบุคคลที่สามเหล่านี้มักจะเป็นพวกค้ามนุษย์ที่ทำให้พวกเขากลายเป็นเหยื่อ และเมื่อผู้หญิงเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้าน ก็จะทำให้คนอื่นๆ อยากได้โอกาสขึ้นมาบ้าง และกลายมาเป็นเหยื่อของตัวแทนจัดหางานเป็นทอดๆ

“แม้ว่าคุณต้องการจะจบวงจรอันเลวร้ายนี้ก็ตาม แต่เมื่อคุณทำผิดกฎหมาย คุณก็กลัวที่จะกล่าวหาคนอื่นว่าเขาทำผิดกฎหมายเหมือนกัน” เขมชาติ กล่าว

การแก้ไขปัญหาที่มีมายาวนาน

“ข่าวดีก็คือ รัฐบาลไทยได้ตอบรับต่อความสนใจในเรื่องนี้ของประชาคมโลก” ลูซี่ แม็คเครย์ นักวิชาการสื่อสารอาวุโส องค์การยุติธรรมนานาชาติ กล่าว

“พวกเขามีความคืบหน้าไปมากในกระบวนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่องค์การยุติธรรมนานาชาติเปลี่ยนไปมุ่งเน้นที่รากเหง้าของการค้าประเวณี และการทำสัญชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ตามขั้นตอนที่ถูกต้องในการสมัครรับสัญชาติไทย ควรจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน เมื่อสำนักงานเขตได้รับแบบฟอร์มใบสมัครแล้ว เขาจะต้องส่งเอกสารที่ได้รับการอนุมัติไปกรุงเทพฯ เพื่อรับหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แล้วจึงจะอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นออกบัตรประชาชนได้ แต่บางคนต้องใช้เวลา 10-15 ปี เพราะอดีตเจ้าหน้าที่เขตกลัวว่าจะต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง ความสับสนของเจ้าหน้าที่อำเภอเกี่ยวกับกฎหมาย นำไปสู่การปฏิเสธที่จะรับสมัครสัญชาติ เพราะการอนุมัติให้สัญชาติอาจทำให้เจ้าหน้าที่ถูกไล่ออกได้มากกว่าการอยู่เฉยๆ ซึ่งไม่มีโทษอะไร ความกลัวจึงนำไปสู่การนั่งโต๊ะทำงานเฉยๆ เป็นเวลาหลายปีและด้วยภาระที่หนักเกินไป อีกทั้งหลายคนไม่มีอำนาจในการจัดการเอกสารจำนวนมาก จึงแน่นอนว่ามีโอกาสที่จะเกิดการทุจริต เหมือนที่มีอยู่ในทุกๆ ประเทศ และมีชาวเขาหลายคนที่ไม่รู้หนังสือหรือเอกสารประกอบการสมัครอย่างถูกต้อง ชาวเขาส่วนมากจึงมักถูกมองว่าเป็นกลุ่มสังคมที่ไม่สมควรได้รับสัญชาติ ดังนั้นการทำบัตรประชาชนจึงไม่สำเร็จ แม้ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะไม่เพียงแค่เขาจะสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการได้รับการยอมรับด้วยเช่นกัน” ” แม็คเครย์ กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ได้ให้ความสนใจไปยังการทำงานของจังหวัดแม่ฮ่อนสอน ที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นสำหรับใบสมัครขอสัญชาติทั้ง 15,000 ใบ ในตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา

“น่าประหลาดใจที่จังหวัดแม่ฮ่อนสอนได้ผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ในเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคนที่เคยร่วมงานกับองค์การยุติธรรมนานาชาติ ก่อนที่เขาจะมาประจำการเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดตาก” แม็คเครย์ กล่าว

“ผู้ว่าฯได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการปัญหาทุกอย่างทั้งหมดภายในหนึ่งปี และเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมาย จึงขอให้ สคบ. เข้ามาช่วยดำเนินการต่างๆ ซึ่งมีผู้ไร้สัญชาติที่ลงทะเบียนทั้งหมด 43,400 คน ในสิ้นปี พ.ศ. 2558 ดังนั้นเขาจึงมีงานที่ต้องทำมาก”

การดำเนินการ

การทำงานขององค์การยุติธรรมนานาชาติและกลุ่มอื่นๆ เป็นสิ่งที่ท้าทาย พวกเขาทำงานบนนโยบายระดับประเทศ รวมถึงกรณีรายบุคคลที่พาดพิงไปถึงพวกเขา ซึ่งใช้เวลาหลายปี ตัวอย่างเช่น กรณีของสมชาย เด็กชายวัย 17 ปี ซึ่งตอนนี้เขามีชีวิตที่ดีและมีความสุขมาก

สมชายเกิดที่โรงพยาบาลในจังหวัดตาก และแม่ของเขาป่วยเป็นโรคประสาท และมักเดินไปตามถนน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้รับจดทะเบียนเกิดของเขาในเขตเทศบาล แต่ไม่สามารถระบุสัญชาติของมารดาได้เนื่องจากอาการป่วยของมารดา ช่องระบุสัญชาติจึงถูกว่างทิ้งไว้ แม่ของเขาถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลโรคจิตที่กรุงเทพ ส่วนเขาไปอยู่บ้านเด็กที่เชียงใหม่และเติบโตที่นั่น แต่เมื่อเขาโตขึ้นเขาจึงเข้าใจและรู้สึกหดหู่ ไม่เพียงแต่เขาไม่มีสัญชาติไทยเท่านั้น แต่ยังไม่มีนามสกุลอีกด้วย คริสเตียนคนหนึ่งพบเข้าก็สงสาร จึงพาเขาไปหาองค์การยุติธรรมนานาชาติเพื่อให้การช่วยเหลือ

“เราเกือบยอมแพ้แล้วสำหรับกรณีนี้ เพราะว่ามันยากมาก” เขมชาติ กล่าว

“การเป็นเด็กกำพร้าที่เกิดในประเทศไทย ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้เขามีสัญชาติไทยได้ แต่เนื่องจากไม่สามารถกำหนดสัญชาติของมารดาได้ และแม่ของเขาถูกพบที่เขตชายแดน เขาจึงยืนอยู่บนเส้นชายขอบ ใน พ.ศ. 2559 สมาชิกคนอื่นๆ ของมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และคนอื่นๆ ในวาระการประชุม ต้องการให้เราพาสมชายไปกรุงเทพฯ เพื่อไปพบกับกระทรวงมหาดไทย สคบ. ได้ออกจดหมายไปยังสำนักงานเขตเทศบาลว่า สมชายต้องได้รับสัญชาติ และขอให้ทางเขตแก้ไขสัญชาติมารดาของสมชายในใบสูติบัตร

อย่างไรก็ตาม ทางเขตเทศบาลยังคงไม่ได้ตัดสินใจและอยากจะพูดคุยถึงเรื่องนี้ก่อน และความจริงที่ว่าเขาไม่มีนามสกุล ก็เป็นปัญหาสำหรับเขาเช่นกัน ดังนั้นทางทนายของเรา จึงเสนอให้เขาใช้นามสกุลของเธอ เขาจึงได้รับได้รับการอนุมัติสัญชาติในเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่ต่อสู้มาตลอดหกปี”

“ฉันจำได้ว่า ฉันเห็นเขาครั้งสุดท้ายหลังจากที่ได้บัตรประชาชนแล้ว” แม็คเครย์ ยิ้ม

“เขาบอกกับฉันว่า เวลาที่อยู่โรงเรียน เขาไม่ต้องสวมแจ๊คเก็ตอีกต่อไปแล้ว เพราะเขาไม่ต้องรู้สึกอายอีกต่อไปที่บนเสื้อของเขาไม่มีนามสกุล”

อุปสรรคต่อการขอสัญชาติ

ความท้าทายขององค์การยุติธรรมนานาชาติ รวมทั้งมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และรัฐบาลคือ ปัญหาที่ไม่ซ้ำกันและกระบวนการตรวจสอบเอกสารจำนวนมากที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ทีมของ สคบ. มักจะประจำอยู่ที่สำนักงานเขตเพื่อช่วยเคลียร์ข้อมูล และเดินทางไปยังที่ห่างไกลเพื่อหาพยาน ส่วนคนอื่นๆ ต้องต่อสู้ในชั้นศาล ในขณะที่มีการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายระดับประเทศ

“การก่อตั้งของมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคลมีความสำคัญต่องานของเรา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนขนาดเล็กแห่งหนึ่ง เราได้ทำงานของเราแล้ว แต่หากมีคนลงทุน มีคนสนับสนุนจากทั่วโลก รวมทั้งรัฐบาล เราจะมีพลังในการเจรจาต่อรอง ส่วนหนึ่งทำงานในเรื่องของสัญชาติ ส่วนอื่นๆ ก็ทำงานด้านผลกระทบจากการไร้สัญชาติ อาทิ การล่วงละเมิดทางเพศ ที่พักอาศัย การศึกษา และอื่นๆ ซึ่งมันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เขมชาติ กล่าว

ทัศนคติที่เปลี่ยนไป

ด้วยทัศนคติที่เริ่มเปลี่ยนไป ข้าราชการเริ่มเห็นว่าคนพวกนี้ไม่ใช่คนร้ายหรือคนเลวที่ข้ามชายแดนมาเพื่อมาเอาเปรียบคนไทย พวกเขาเป็นคนไทยเฉกเช่นเดียวกับพวกเรา มีเพียงแค่วัฒนธรรมกับภาษาที่ไม่เหมือนกัน และพวกเขาควรได้รับการปฏิบัติที่ดีและเทียบเท่ากับคนไทยทั่วไป

หญิงวัย 79 ปีคนหนึ่ง เป็นชนเผ่าอาข่า อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย หญิงชราบอกว่า เธอก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหมู่บ้านแห่งนี้อยู่อาณาเขตของประเทศไทยหรือประเทศพม่า เธอรู้แค่ว่าเธอเป็นคนอาข่าของหมู่บ้านนี้ เพราะพรมแดนไม่เคยมีความสำคัญสำหรับเธอ หลายปีมาแล้ว นับตั้งแต่เธอแต่งงานกับชายอาข่าคนหนึ่งที่มีสัญชาติ และมีลูกด้วยกันหลายคน เมื่อ 30 ปีที่แล้วเธอได้ไปสมัครขอสัญชาติ เอกสารทุกอย่างได้รับการอนุมัติและส่งไปกรุงเทพฯ แต่ทางกรุงเทพฯ กลับไม่ยอมส่งเลขบัตรประชาชน 13 หลักกลับมาเสียที ซึ่งโดยปกติแล้วทางกรุงเทพฯ จะส่งเลขบัตรประชนมายังสำนักงานเขตต่างๆ ปีละ 2-4 ครั้ง หญิงวัย 79 ปีผู้นี้ก็จะลงมาเช็คทุกปี และผิดหวังทุกครั้ง เธอเล่าว่า เวลาที่เธอเจ็บป่วยแล้วไปโรงพยาบาลของรัฐ เธอรู้สึกทนไม่ได้กับการได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดี หรือการดูถูกเหยียดหยามจากหมอและพยาบาล ทำให้เธอต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้เธอมีศักดิ์ศรีขึ้นมาบ้าง

เมื่อเราพาเธอไปยังสำนักงานเขตที่ดำเนินเรื่องอยู่ ก็พบว่าหน่วยงานเขตแห่งนี้ได้ใช้ระบบดิจิทัลในการทำงานมานานแล้ว ซึ่งหมายความว่าเธอต้องขออนุมัติส่งเรื่องไปยังกรุงเทพฯ อีกครั้ง และการขอสัญชาติเป็นพลเมืองไทยตามกฏหมายจะต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่แก่กว่าเธอ ที่จะมาเป็นพยานพิสูจน์ได้ว่าเธอมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยตามทางกฎหมาย แต่ตอนนี้เธออายุ 79 ปีแล้ว เธอจะไปหาพยานที่แก่กว่าเธอได้อย่างไร เราจึงพาเธอไปสมัครใหม่และขอร้องพนักงานข้าราชการ เพราะเธออายุมากขนาดนี้แล้ว และเราได้เดินทางไปบนดอยเพื่อไปหาเพื่อนของเธอที่อายุพอๆ กัน และพาสามีของเธอมาเป็นพยาน ซึ่งในเดือนตุลาคมของปีนี้ เราหวังว่าเธอจะได้รับการอนุมัติการขอสัญชาติ

องค์การยุติธรรมนานาชาติทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนเหล่านี้ เช่น เด็กผู้หญิงอาข่าอายุ 15 ปี เติบโตที่สถานเด็กกำพร้าที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากว่าแม่ของเธอหูหนวกและพูดไม่ได้ ประกอบกับหย่าร้างกับพ่อผู้เป็นคนไทยไปนานแล้ว ทนายความผู้ที่เคยให้นามสกุลแก่เด็กที่เคยเติบโตที่บ้านกำพร้าแห่งนี้จึงเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และพยายามติดต่อพ่อของเด็กหญิงหลายครั้ง จนในที่สุดพ่อของเด็กหญิงคนนี้ยอมให้ DNA Sample ขณะเดียวกันมีชาวต่างชาติใจดีคนหนึ่งให้เงินจำนวน 10,000 บาท เพื่อเป็นค่า DNA Test ซึ่งอีกไม่กี่เดือนก็จะรู้ผล หากรู้ผลเมื่อไหร่ว่าพ่อของเด็กหญิงเป็นคนไทย เด็กคนนี้ก็จะเป็นคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์

“แต่ละรายมีปัญหาไม่เหมือนกันและทุกคนต่างมีเอกสารแตกต่างกัน ซึ่งต้องตีความภายใต้ความซับซ้อนของกฎหมาย และนอกจากนี้เรายังต้องช่วยเหลือคนอื่นในกรณีที่พวกเขาไม่สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้” แม็คเครย์ อธิบาย

เมื่อปีที่ผ่านมาองค์การยุติธรรมนานาชาติสามารถขอสัญชาติไทยผ่านโครงการได้ทั้งหมด 3,290 คน ซึ่งเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก

ขณะที่ฉันขับรถออกมาจากสำนักงานองค์การยุติธรรมนานาชาติ ฉันคิดถึงบัตรประชาชนของพ่อที่หายไป แล้วนึกถึงเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่พ่อของฉันบินมาเมืองไทย และหลงรักผู้หญิงไทยที่มีพ่อเป็นนายพล และนายพลคนนี้เองก็ได้มอบนามสกุลให้แก่พ่อของฉัน เพื่อที่พ่อของฉันจะสามารถสมัครขอสัญชาติไทยได้ ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายของการสมัครเพื่อขอสัญชาติไทย พ่อของฉันก็ต้องตกใจ เมื่อเจ้าหน้าที่หัวหน้าตำรวจคนหนึ่งซึ่งใส่เนคไทของโรงเรียนเดียวกันกับเขาที่ประเทศอังกฤษ ตำรวจคนนั้นได้ถามพ่อของฉันว่า คุณพูดไทยได้ไหม พ่อก็ตอบเป็นภาษาอังกฤษไปว่า ‘ได้’ แล้วพ่อของฉันก็ขอสัญชาติไทยสำเร็จ

ฉันคิดว่าพ่อคงต้องสละเวลาสักชั่วโมงหนึ่งเพื่อไปรับบัตรประชนใบใหม่ แล้วก็นึกถึงคนเป็นแสนๆ คนที่อยู่บนภูเขาที่สมควรจะได้บัตรประชนคนไทยมากกว่าพ่อของฉันไม่รู้กี่เท่า พวกเขาต้องยากลำบากดิ้นรนต่อสู้มาเป็นสิบๆ ปี เพื่อที่จะได้ใบสีฟ้า ซึ่งคนไทยทุกคนคิดว่าเป็นเรื่องง่ายดายที่จะได้มา