Royal Cuisine: เหตุเกิดเพราะลงเรือ : ตำรับน้ำพริกลงเรือ ของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์

 |  April 9, 2017


เหตุเกิดเพราะลงเรือ : ตำรับน้ำพริกลงเรือ

ของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์

ภาพถ่ายของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ ในวัยแรกรุ่นภาพนี้ ถ่ายไว้เมื่อครั้งอยู่ในฐานะเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพก่อนจะเสด็จสวรรคต

เรื่องราวของเจ้าจอมสดับที่เป็นภาพจำของผู้คนที่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์และคนทั่วไป ก็คือบทพระราชนิพนธ์ที่สลักไว้ในกำไลทองแท้ ซึ่งได้พระราชทานแก่เจ้าจอมสดับ ซึ่งเต็มไปด้วยความหมายและความไพเราะข้ามกาลเวลามาให้คนรุ่นหลังได้ซาบซึ้ง

กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเช่นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย

เจ้าจอมสดับเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 คนสุดท้ายที่มีอายุยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ 9 และแน่นอนว่ากำไลมาศนี้ได้อยู่บนข้อมือของเจ้าจอมสดับตลอดชีวิตของท่าน เมื่อถึงแก่อนิจกรรม ทายาทได้ถอดออกให้ และถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมสดับซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกฐและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จขึ้นเมรุพระราชทานเพลิง นับเป็นการพระราชทานเกียรติยศอันยิ่งใหญ่แก่อดีตเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 ผู้มีชีวิตยืนยาวมาถึง 5 แผ่นดิน

และในชีวิต 5 แผ่นดินของเจ้าจอมสดับนั้น มีเรื่องราวมากมายที่น่าสนใจเคียงคู่ไปกับหน้าประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือตำรากับข้าวไทย ซึ่งเจ้าจอมสดับได้รวบรวมสูตรอาหาร

ตำรากับข้าวไทย เฉพาะเครื่องจิ้ม และข้าวสำเร็จต่างๆ ของสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา และได้จัดพิมพ์หนังสือตำรากับข้าวไทยฉบับนี้ขึ้น ดังที่ท่านได้เขียนจุดประสงค์ไว้ในคำนำหนังสือว่า

“… เพราะเหตุว่ามีพวกพ้องหลายคนมาขอตำราไปปรุงอาหารสำหรับตนเองภายในครอบครัวบ้าง มาขอให้จัดพิมพ์เป็นเล่มบ้าง บางรายก็เห็นว่าข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะจัดด้วยตนเองได้ ขอช่วยทุนพิมพ์ให้เลยก็มี เมื่อข้าพเจ้าระลึกถึงคุณในความมีใจดีของมิตรสหาย และความสนใจในอาหารของข้าพเจ้าเช่นนี้ จึงทำให้มีแก่ใจรวบรวมเป็นเล่มขึ้น…”

และตำรับอาหารหมายเลขหนึ่งในหนังสือเล่มนี้คือ  “น้ำพริกลงเรือ” ซึ่งมีที่มาจากเหตุบังเอิญ แต่ได้กลายเป็นเมนูอาหารไทยที่แพร่หลายในเวลาต่อมา

เจ้าจอมสดับ อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎปิยมหาราชปดิวรัดา ( พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์) พระอัครชายาซึ่งรับสนองพระมหากรุณาธิคุณในกิจการห้องพระเครื่องต้นแห่งราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ 5  ดังนั้นเจ้าจอมสดับจึงได้รับการถ่ายทอดเรื่องตำรากับข้าวไทยของสำนักพระวิมาดาเธอฯ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ไม่ปิดบังตำรา และยินดีที่จะถ่ายทอด “ตำราพระวิมาดา”ให้แก่ผู้สนใจเสมอในฐานะที่ทรงเป็นต้นตำรับ ดังที่ได้มีการบันทึกไว้ในหนังตำรากับข้าวไทยดังกล่าว

ส่วนตำรับน้ำพริกลงเรือที่ว่ามีที่มาจากเจ้าจอมสดับนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  เป็นผู้หนึ่งที่ทรงคุ้นเคยกับเจ้าจอมสดับ ได้ทรงเขียนเล่าถึงที่มาเรื่อง “น้ำพริกลงเรือ”ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ว่า  “น้ำพริกลงเรือ” มีที่มาจากเจ้าจอมสดับ และสถานที่ที่ทำให้เกิดตำรับน้ำพริกลงเรือก็คือ “สวนสุนันทา”

สวนสุนันทาเป็นที่ประทับของพระมเหสี เจ้าจอมมารดา เจ้าจอมและพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สร้างขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ และได้ทรงพระราชดำริว่าพระบรมมหาราชวังชั้นในคับแคบ ไม่เหมาะสมจะเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักในบริเวณสวนสุนันทาขึ้น ในสวนสุนันทาแห่งนี้ พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้เสด็จมาประทับ ณ ตำหนักสายสุทธานภดล  ทรงก่อตั้ง”โรงเรียนนิภาคาร” ขึ้นภายในสวนสุนันทาเพื่ออบรมวิชาการเรือนการฝีมือให้แก่บุตรหลานของขุนนาง ข้าราชการ ผู้มีบรรดาศักดิ์ที่นิยมนำบุตรหลานมาถวายตัวต่อพระวิมาดาเธอฯ เป็นจำนวนมาก

ในขณะที่สร้างวังสวนสุนันทา ตอนจะสร้างตำหนักนั้นจะต้องขุดดินมาถมเพื่อทำตำหนัก เมื่อขุดดินมากเข้าจึงกลายเป็นสระน้ำที่กว้างใหญ่ เมื่อเจ้านายเข้าไปประทับแล้ว จึงได้เกิดการพายเรือเล่นในสระแห่งนี้

“วันหนึ่งตอนค่ำคิดจะลงเรือกัน สมเด็จอาหญิงน้อย (พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา) ก็ชวนว่าให้ไปกินข้าวในเรือกันเถอะ ก็รับสั่งว่า ‘สดับไปดูซิในครัวมีอะไรบ้าง’ เวลานั้นยังไม่ถึงเวลาเสวย คุณจอมสดับไปในห้องเครื่อง เห็นมีแต่ปลาดุกทอดฟูกับน้ำพริกตำไว้เท่านั้น จึงหยิบน้ำพริกกับปลาผัดรวมกันกับหมูหวานเล็กน้อย พอตักขึ้นมาก็หยิบไข่เค็มซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ต้ม ความเป็นคนคล่องและไว เลยทิ้งไข่ขาวเอาแต่ไข่แดงดิบวางลงไปทั้งลูกๆ และจัดผักเตรียมลงมาด้วย กลายเป็นอร่อยมาก ถึงเรียกน้ำพริกลงเรือ เกิดขึ้นเพราะคุณจอมสดับนี่เอง….”

ซึ่งทั้งพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ฯ และกรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงโปรดน้ำพริกถ้วยนี้มาก…”

เจ้าจอมสดับได้บันทึกถึงสูตรน้ำพริกลงเรือเอาไว้เช่นเดียวกันว่า “…ที่ชื่อน้ำพริกลงเรือ เกิดขึ้นเพราะเจ้านายทรงเล่นเรือพาย เวลาพลบค่ำจะเสวยในเรือโดยมิได้เตรียม ผู้คิดพบอะไรมีอยู่ในห้องเครื่องก็เก็บผสมกันเข้าให้สำเร็จประโยชน์ และให้ง่ายเหมาะในเรือเล็กๆมืดๆ”

เหตุเกิดเพราะลงเรือ ทำให้เป็นที่มาของชื่อน้ำพริกลงเรือ และเพราะรสชาติอาหารหลายประเภทที่นำมารับประทานแล้วเข้ากันอย่างไม่เชื่อ ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา “น้ำพริกลงเรือ”ได้แพร่หลายไปในกลุ่มเจ้านาย ขุนนาง และประชาชนทั่วไปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

นอกจากน้ำพริกลงเรือ เรื่องราวของเจ้าจอมสดับและตำรับกับข้าวไทยยังมีความน่าสนใจอีกหลายเรื่อง ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไปใน Spoon and Fork โปรดติดตามในฉบับหน้าค่ะ

Chili Dip in a Boat

H.R.H. Princess Saisavali Bhirom was the Royal consort of King Rama V. She took care of him in his old age and was so beloved, he gave her a gold bracelet engraved with a poem he had written for her. Princess Saisavali lived a very long life, finally passing away during the reign of King Rama IX, being one of the few people to have lived through five reigns. She was a great cook and used to oversee the Royal kitchens, as well as being the keeper of many Royal recipes. Princess Sadab Ladawan was also a Royal consort of King Rama V and worked under Princess Saisavali, eventually compiling a book of Royal recipes.

In Princess Sadab’s book, she talks of the Suan Sunandha Palace, where there was a great man-made lake. One day, she wrote, many members of the Royal family wished to go boating on the lake, as they frequently did, and Princess Saisavali asked Princess Sadab to go into the Royal kitchens to find some food. The kitchen staff were not in at that time of the day and Princess Sadab only managed to grab a few ingredients available. They included some fried catfish, a leftover chili dip, some fresh vegetables, sweet pork, dried fish and a picked egg. Being fast on her feet, Princess Sadab put the ingredients together, pounding them into a chili dip and putting the egg yolk on top to be eaten with fresh vegetables. This became an instant Royal hit and is now known as the famous, “nam prik long ruea,” found in many kitchen today. The name translates to “chili dip in a boat”, and it is featured as the first recipe in the cook book Princess Sadab eventually compiled.

—————————————————————————————————-

“เท่าที่ทราบประวัติเกี่ยวกับเมนูตัวนี้อย่างคร่าวๆ ทราบว่าเป็นอีกหนึ่งอาหารไทยที่มีเรื่องราวน่ารักๆอยู่ในเกร็ดประวัติศาสตร์ เมนูนี้จะรับประทานคู่กับหมูหวาน และผักสดด้วยกัน บนน้ำพริกของเราจะโรยหน้าด้วยปลาดุกฟูลงไปด้วย เมื่อเวลารับประทานแล้ว จะมอบรสสัมผัสที่กลมกล่อมลงตัวพอดิบพอดี” คุณปภัสสร ณ เชียงใหม่ หรือเชฟตูตู จากร้านกำแพงแก้ว

“น้ำพริกลงเรือ เป็นเมนูอาหารไทยที่มีความเรียบง่าย และเชฟตูตูก็ตั้งใจรังสรรค์ออกมาโดยมีสูตรและขั้นตอนการทำที่ไม่ซับซ้อน แต่ให้รสชาติที่อิ่มอร่อยแก่ผู้รับประทาน” คุณปภัทพิม ภัทราคม เจ้าของร้านกำแพงแก้ว และคู่ชีวิตของเชฟตูตู

To sample this popular Royal dish, stop by Kampaengkaew Restaurant in Maiiam Museum of Contemporary Art and sample Chef Tutu’s chili dip in a boat, “When I learned the charming backstory to this dish, I really wanted to add it to our menu. We serve the shrimp and crispy catfish dip with sweet pork and lots of fresh vegetables. Add some spicy mango salad on the side, and this is a very complex and mellow dish,” Chef Tutu told Spoon&Fork.