Mouthwatering: Blind Dining เมนูแห่งการเรียนรู้คุณค่าของมนุษย์

 |  May 15, 2017

Blind Dining เมนูแห่งการเรียนรู้คุณค่าของมนุษย์

 

            ความมืด..แม้อาจจะเป็นสิ่งที่น่ากลัว แต่ในบางครั้งก็สามารถสร้างความสงบได้เช่นกัน

            และในบางคราวความมืดก็ได้สอนให้ผู้คนอีกมากมายให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวบุคคล มากกว่ารูปกายภายนอก

ทุกวันเกิดของฉันในวัยเด็ก พ่อแม่มักจะขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียนผู้พิการทางสายตาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ ตอนนั้นเองที่ฉันก็ได้เห็นถึงความยากลำบากการรับประทานอาหารของพวกเขา ถึงแม้จะหกเลอะเทอะบ้าง แต่ทุกคนก็กินจนหมดจาน  และมีอีกหลายคนยกมือขอเพิ่ม มันทำให้ฉันรู้สึกประทับใจที่พวกเขาชอบอาหารของพวกเรา

ชีวิตคนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ในเมื่อเราโชคดีเกิดมามีครบทุกอย่างทั้งทรัพย์สินและร่างกาย เราก็พร้อมยินดีมอบความสะดวกให้กับพวกเขาอีกครั้งหากมีโอกาสฉันนั่งนึกในใจระหว่างเดินทางกลับบ้าน แต่แล้วความนึกคิดครั้งวัยเยาว์ก็ได้ถูกลบล้างไป เมื่อฉันได้มีโอกาสมานั่งรับประทานอาหารห้องมืดที่โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์​ และมันคือความประทับใจที่ตราตรึงมาจนถึงทุกวันนี้

ในวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา โรงแรมพรพิงค์ ทาวเวอร์ ได้จัดกิจกรรมรับประทานอาหารในห้องมืดขึ้นมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์แบบใหม่ที่สามารถเข้าใจความรู้สึกและการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา โดยมอบรายได้ส่วนหนึ่งให้แก่โรงเรียนผู้พิการทางสายตา แต่ก่อนที่งานในวันจริงจะเริ่มต้นขึ้น ผู้จัดการของโรงแรมก็ได้เชิญทีมงาน Citylife และ Spoon&Fork ไปทดลองรับประทานในรอบสื่อมวลชน โดยมีให้เลือกเมนูอยู่ 2 แบบกัน คือ เมนูอาหารไทย และเมนูอาหารตะวันตก และทุกเมนูยังได้ปิดเป็นความลับอีกด้วย

ก่อนจะเข้าสู่โลกมืด พนักงานได้เก็บอุปกรณ์สื่อสารของทุกคนไว้เพื่อไม่ให้เกิดแสงสว่างระหว่างรับประทานอาหาร จากนั้นจึงพาพวกเราไปรู้จักกับน้องผึ้ง นักศึกษาสาวจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผู้มาเป็นไกด์นำทางทีมงานเดินไปยังโต๊ะในห้องอาหารที่มืดสนิท และที่สำคัญเธอคือผู้พิการทางสายตาที่คอยให้ความช่วยเหลือเราตลอดการดื่มด่ำมื้อค่ำนี้

เมื่อทีมงานทุกคนนั่งประจำที่ น้องผึ้งก็ได้แนะนำอุปกรณ์รับประทานอาหารบนโต๊ะว่าอยู่ตำแหน่งใดในความมืดมิด โดยทุกคนใช้วิธีการคลำหาข้าวของอย่างช้าๆตามคำบรรยายของเธอ เพราะกลัวจะทำจานแก้วตกแตก และทุกครั้งที่ใครต้องการความช่วยเหลืออะไร น้องผึ้งจะตอบรับได้อย่างคล่องแคล่ว โดยรู้ตำแหน่งของพวกเราบนโต๊ะ เทคนิคพิเศษเหล่านี้น้องผึ้งบอกว่า เธอใช้ประสาทสัมผัสการฟังเพื่อรับรู้ถึงสถานการณ์รอบข้างไม่ว่าจะเป็นการหยิบยืนอุปกรณ์ การเสิร์ฟอาหาร และการเติมน้ำ นอกจากนี้เธอยังบอกว่า ก่อนหน้าที่ทางโรงแรมจะให้เสิร์ฟอาหาร พวกเรา (เพื่อนที่เป็นผู้พิการทางสายตา) ทุกคนจะได้เดินภายในห้องอาหารแห่งนี้ เพื่อเรียนรู้ตำแหน่งของโต๊ะแต่ละตัว เมื่อรู้ว่าโต๊ะทุกตัวอยู่ตรงไหนของห้อง ก็จะไม่ได้เดินชนอีก

ทันทีที่อาหารมาเสิร์ฟวางตรงหน้า ทีมงานก็เริ่มสนทนาเกี่ยวกับคอร์สเมนูอย่างตื่นเต้น เพราะไม่มีใครรู้ว่ามันคือเมนูอะไร  หรือหน้าตาแบบไหน เวลารับประทานก็ต้องเดาว่าแต่ละจานน่าจะมีอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง และแน่นอนว่าความมืดสนิทเป็นอุปสรรคต่อการตักข้าวกิน น้องผึ้งจึงได้แนะนำกับทีมงานว่าหากไม่สามารถใช้ช้อนส้อมตักอาหารได้ ก็ใช้มือจับหยิบอาหารแทนและทุกคนก็ทำตามที่เธอบอก บางคนใช้เพียงแต่ส้อมอย่างเดียวรับประทานอาหาร บางคนก็ใช้มือเพราะว่ารู้สึกง่ายกว่า ตลอดการสนทนาบนโต๊ะจะได้ยินเสียงหัวเราะของน้องผึ้งเบาๆ และรับรู้ได้ว่าเธอกำลังยิ้มอยู่ในความมืดพร้อมกับพวกเรา

ปกติแล้วผึ้งมักจะได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างเสมอ แต่วันนี้เป็นครั้งแรกที่ผึ้งได้ให้ช่วยเหลือกับผู้อื่น จึงรู้ดีใจและมีความสุขที่มีโอกาสทำประโยชน์เพื่อคนอื่นๆบ้างน้องผึ้งเผยความรู้สึกออกมาขณะนั่งรับประทานเมนูของหวานจานสุดท้ายร่วมกัน และทีมงานเชื่อว่าความรู้สึกของเธอ คือ ตัวแทนของความปลื้มปิติของเพื่อนผู้พิการทางสายตาอีกหลายชีวิตที่ได้รับโอกาสเฉกเช่นเดียวกับเธอ

ขากลับจากห้องมืด น้องผึ้งก็เป็นผู้นำขบวนไปยังประตูทางออก พร้อมโบกมือร่ำลาพวกเราที่กำลังเดินทางสู่โลกแห่งแสงสว่าง เป็นเวลาเดียวกันกับที่พนักงานของโรงแรมพรพิงค์ได้นำเมนูอาหารมาเฉลยตรงหน้าพวกเราว่าแต่จานหน้าตาเช่นไร ซึ่งเมนูอาหารไทยจะประกอบด้วย ไข่ชุบแป้งทอด ต้มนำแซลมอล และกล้วยบวชชีฟิวชั่น ขณะเดียวกันเมนูตะวันตกจะมีสลัดซีซ่าร์ห่อแบบซูชิ บูร์ริโต และบานอฟฟีรสชาไทย

แต่มากกว่ารสชาติอาหารในวันนั้น ก็คือคำพูดของน้องผึ้งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกประทับใจและไม่สามารถลืมได้ลง ฉันนั่งนึกถึงช่วงชีวิตที่ได้มีโอกาสทำบุญเลี้ยงข้าวแก่นักเรียนผู้พิการทางสายตาขณะขับรถกลับบ้าน มนุษย์ทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะแสดงคุณค่าที่ซ่อนอยู่ข้างในให้อีกหลายคนได้กระจ่าง